กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน่วยงานในสังกัด 107 หน่วย ได้แก่ บ้านพักเด็กและครอบครัว จำนวน 77 แห่ง และสถานรองรับ 30 แห่ง ประกอบด้วย สถานสงเคราะห์เด็กอ่อน (อายุแรกเกิด – 6 ปี) สถานสงเคราะห์เด็กโต (อายุ 6 – 18 ปี)

โดยสถานสงเคราะห์ให้การอุปการะเด็กที่กําพร้า ถูกทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ติดเชื้อเอดส์ หรือได้รับผลกระทบจาก โรคเอดส์ หรือบิดามารดาหรือผู้ปกครองไม่สามารถให้การอุปการะได้อย่างเหมาะสม สถานแรกรับ (อายุ 6 – 18 ปี) ให้การอุปการะเด็กที่เร่ร่อน ขอทาน ถูกกระทําทารุณกรรม มีปัญหาพฤติกรรม และเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ (อายุ 6 – 18 ปี) ให้การอุปการะเด็กที่มีปัญหาด้านความประพฤติ เด็กที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม และเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก (อายุ 6 – 18 ปี) ให้การอุปการะเด็กที่จําเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ

อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน

กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันโรคระบาดดังกล่าวในสถานรองรับเด็กทั้ง 107 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและครอบครัว โดยการดำเนินการตามแนวทางนั้นเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้กลุ่มเป้าหมาย ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีความเหมาะสม ส่งผลให้ปลอดจากการติดเชื้อดังกล่าว รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในทุกระดับชั้น ทางสถานรองรับเด็กทั้ง 107 แห่ง ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้กับกลุ่มเป้าหมายของกรมกิจการเด็กและเยาวชน

นางสาวอรนุชา มงคลรัตนชาติ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท/นางสาวประไพ คามวุฒิ
ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2563 เวลา 10.00 น. ณ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดกิจกรรม “Open House บ้านพญาไท และบ้านปากเกร็ด” และตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมสถานรองรับเด็ก New Normal (ต้นแบบ) สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท และสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด ก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยทางสถานศึกษาได้แจ้งกำหนดการให้เด็ก ๆ ได้กลับเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนแบบปกติ ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงได้เตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ที่จะต้องไปโรงเรียนได้สามารถปรับตัวให้เข้าสู่ความปกติใหม่ (NEW NORMAL) และนำไปใช้ในสถานรองรับของกรมกิจการเด็กและเยาวชน 107 แห่งทั่วประเทศ

การเตรียมพร้อมสำหรับเด็กในสถานรองรับก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วย

 

1. การให้ความรู้แก่เด็กในด้านการป้องกันตนเองจากการแพร่กระจายของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) เช่น การเว้นระยะห่าง ทางสังคมอย่างน้อยหนึ่งช่วงแขน, การสวมหน้ากากอนามัย, ไม่สัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น ราวบันได, ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันกับเพื่อน ๆ, ไม่ดื่มน้ำหรือทานอาหารของเพื่อน, การล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮลล์, ไม่เล่นหรือใกล้ชิดกับเพื่อน ๆ ที่มีอาการคล้ายหวัด รวมทั้งให้สังเกตอาการของตนเองหากมีอาการ ไอ จาม ปวดศรีษะ รีบแจ้งพี่เลี้ยงประจำอาคารพัก หรือคุณครูประจำชั้นทันที
2. จัดเตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันโรค คือ หน้าการอนามัยชนิดผ้า และเจลแอลกอฮอล์สำหรับพกพา
3. จัดเตรียมเจ้าหน้าที่พยาบาลในการคัดกรองสุขภาพเด็ก โดยการตรวจอุณหภูมิร่างกายของเด็กในช่วงเช้า และหลังกลับจากสถานศึกษา มีการจดบันทึกรายละเอียด รวมถึงมีการตรวจอาการเจ็บป่วยเด็ก ๆ ทุกคนในช่วงเวลา 22.00 น. อีกครั้ง หากมีอาการเจ็บป่วยให้หยุดพักงดไปโรงเรียนเพื่อสังเกตอาการ นำส่งพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ
4. จัดเตรียมกำหนดจุดรับ-ส่งเด็กในสถานรองรับให้ชัดเจน ใกล้กับจุดที่เด็กสามารถทำความสะอาดมือได้ สำหรับยานพาหนะให้การ รับ-ส่งเด็ก ให้มีแอลกอฮอล์ประจำรถยนต์ทุกคัน และทำความสะอาดยานพาหนะทุกคันด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อทุกวัน
5.และเมื่อกลับจากสถานศึกษาจะมีการล้างมือ อาบน้ำ สระผม ชำระร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนจะไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเย็น และพี่เลี้ยงประจำอาคารพักจะนำเสื้อผ้าซักล้าง เช็ดทำความสะอาดกระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์เครื่องเขียนด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อทุกวัน

รวมทั้งมีการจัดเจ้าหน้าที่งานการศึกษาประสานงานกับสถานศึกษา เพื่อติดตามสุขภาพของเด็ก, สถานการณ์ภายในสถานศึกษา และการเรียนการสอน หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทางสถานรองรับจะดำเนินการตามแผนและขั้นตอนตามแผนบริหารความต่อเนื่อง (BCP) ที่สถานรองรับทุกแห่งได้จัดทำขึ้นทันที เพื่อให้เด็กทุกคนที่อยู่ในความดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้มีความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) นางสุภัชชา กล่าวทิ้งท้าย