ฟลายอบิลิตี้ (Flyability) เปิดตัวเอลิออส 3 (Elios 3) ซึ่งเป็นโดรนที่ทนต่อการชนกันเครื่องแรกของโลกที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ไลดาร์ (LiDAR) สำหรับการทำแผนที่ 3 มิติภายในอาคาร โดรนใหม่นี้ขับเคลื่อนโดยกลไกสแลม (SLAM) ใหม่อย่างฟลายอแวร์ (FlyAware™) ซึ่งช่วยให้สร้างโมเดล 3 มิติในขณะที่บินได้ และมาพร้อมกับซอฟต์แวร์สำหรับผู้ตรวจสอบเวอร์ชันใหม่ของฟลายอบิลิตี้อย่างอินสเปคเตอร์ 4.0 (Inspector 4.0)ฟลายอบิลิตี้เป็นผู้บุกเบิกโดรนที่ใช้ในการตรวจสอบพื้นที่ภายใน รวมถึงพื้นที่อับอากาศ หลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัทฯไปในปี 2559 บริษัทฯเปิดตัวเอลิออส 3 โดยยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันมนุษย์ให้พ้นจากสถานที่อันตรายขณะดำเนินการตรวจสอบสถานที่ที่มีความท้าทายเป็นอันดับต้น ๆ  เอลิออส 3 ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการเครื่องมือตรวจสอบที่เชื่อถือได้ ในขณะที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกยกระดับการใช้โดรน พวกเขาต้องการเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย ดำเนินการในลักษณะเดียวกันทุกครั้ง และยังคงมีเสถียรภาพเมื่อทำงานในสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวสูง

“เอลิออส 3 มีความเสถียรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งยังมีเพย์โหลดแบบโมดูลาร์ มีความสามารถในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติแบบเรียลไทม์ขณะบิน และเป็นการปูทางไปสู่การใช้โดรนในรูปแบบอัตโนมัติมากขึ้นในอนาคต” แพททริก เตโว (Patrick Thévoz) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของฟลายอบิลิตี้ กล่าว “สำหรับการตรวจสอบทางอุตสาหกรรมนั้น เอลิออส 3 เป็นกลไกสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 โดยนำเสนอโซลูชันการตรวจสอบที่ทำให้ตรวจสอบได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และราคาไม่แพงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”เอลิออส 3 มาพร้อมกับเซ็นเซอร์ไลดาร์ เอาสเตอร์ OS0-32 (Ouster OS0-32) ช่วยให้ผู้ตรวจสอบสามารถรวบรวมข้อมูลสำหรับการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ในระดับเกรดสำรวจได้ โดยใช้ซอฟต์แวร์จากจีโอสแลม (GeoSLAM) ซึ่งเป็นพันธมิตรใหม่ของฟลายอบิลิตี้ การทำแผนที่บริเวณพื้นที่ที่เข้าถึงไม่ได้หรืออันตรายเกินไปสำหรับมนุษย์นั้นมีความยากมาก แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการตัดสินใจด้านการปฏิบัติงานในหลาย ๆ อุตสาหกรรม

ความร่วมมือของฟลายอบิลิตี้กับจีโอสแลม

การรวมเอากระบวนการการเก็บข้อมูลที่ดีที่สุดของโดรนที่ใช้ในการตรวจสอบภายในพื้นที่อับอากาศ มาผสานกับเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ภูมิสารสนเทศแบบ 3 มิติ ช่วยให้สามารถสร้างพอยต์คลาวด์ ในระดับเกรดสำรวจ ในสถานที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องมาคอยกะและคาดเดาเมื่อต้องปฏิบัติการ และนอกจากเซ็นเซอร์ไลดาร์แล้ว เอลิออส 3 ยังรองรับเพย์โหลดเสริม ซึ่งช่วยทำให้การใช้งานตรงตามความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนได้เอลิออส 3 ขับเคลื่อนโดยกลไกสแลมฟลายอแวร์ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของฟลายอบิลิตี้ ทำให้เปลี่ยนข้อมูลไลดาร์ของโดรนให้เป็นแบบจำลอง 3 มิติแบบเรียลไทม์ในขณะที่โดรนกำลังบินได้ นอกจากนี้ ฟลายอแวร์ยังทำให้เอลิออส 3 มีความเสถียรอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการรวมข้อมูลจากกล้องออปติคัลสามตัวของโดรนและเซ็นเซอร์ไลดาร์ของโดรน เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวที่เล็กที่สุดที่คาดเดาไม่ได้และสั่งการตัวควบคุมการบินเพื่อชดเชยเรื่องดังกล่าว ความเสถียรและคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ใช้งานง่ายนี้ทำให้เอลิออส 3 ใช้งานง่ายอย่างเหลือเชื่อ โดยนักบินใหม่สามารถเข้ารับการฝึกอบรมและทำการตรวจสอบครั้งแรกได้ในวันเดียวกัน

ซอฟต์แวร์อินสเปคเตอร์ 4.0 ใหม่ของฟลายอบิลิตี้ที่สร้างขึ้นสำหรับการรายงานกับเอลิออส 3 ทำให้ผู้ตรวจสอบสามารถเห็นจุดที่สนใจ (POI) ในระหว่างการตรวจสอบ ในแผนที่ 3 มิติความละเอียดสูง โดยใช้มุมมองแผนที่แบบ 3 มิติ (3D Map Viewer) ของอินสเปคเตอร์ 4.0 คุณลักษณะนี้ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถดู POI ในแต่ละจุด ในรูปแบบดิจิทัลของสินทรัพย์พวกเขาได้ ทำให้มองเห็นความผิดปกติในแต่ละจุดได้อย่างชัดเจน เพื่อสนับสนุนการวางแผน การตรวจสอบ และการบำรุงรักษา”เอลิออส 3 เป็นโครงการเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ฟลายอบิลิตี้เคยทำมา” เอเดรียน บริโอด (Adrien Briod) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของฟลายอบิลิตี้ กล่าว “ลองนึกภาพเอลิออส 2 เป็นโทรศัพท์ฝาพับสุดคลาสสิก ซึ่งออกแบบมาเพื่อโทรเข้าโทรออกเท่านั้น เอลิออส 3 ก็คือสมาร์ตโฟน สร้างขึ้นมาเพื่อปรับแต่งตามความต้องการเฉพาะของผู้ใช้แต่ละคน ให้คุณสามารถใส่เพย์โหลดที่ต้องการเพื่อให้ใช้เครื่องมือตามที่คุณต้องการได้ และยังสามารถเติบโตและพัฒนาเมื่อเวลาผ่านไปด้วยเพย์โหลดหรือโซลูชันซอฟต์แวร์ใหม่”

ฟลายอบิลิตี้พัฒนาเอลิออส 3 มาสี่ปีแล้ว ในช่วงเวลานั้น วิศวกรของบริษัทได้ใช้เวลาหลายพันชั่วโมงในการวิจัยและพัฒนา และปฏิบัติการภาคสนามกว่า 200 ภารกิจเพื่อรวบรวมความเห็น เรียนรู้สิ่งที่ลูกค้าต้องการ และปรับแต่งเทคโนโลยีเพื่อสร้างโดรนในอาคารที่ไว้วางใจได้ที่สุดในตลาดในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะสร้างเอลิออส 3 ฟลายอบิลิตี้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก โดยเข้าร่วมทีม เซอร์เบอรัส (Team Cerberus) ซึ่งเข้าแข่งขันและชนะการแข่งขันประเภท Sub-T หลายสมัย ของสำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมของสหรัฐ (DARPA) ประเภทหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับสภาพแวดล้อมใต้ดิน