ภาคปศุสัตว์ เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษีหลายครั้งหลายครา เพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูง ลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาอาหารโปรตีนเนื้อสัตว์ ไข่ไก่และนม เพราะอาหารสัตว์เป็นต้นทุน 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน สภาพอากาศแล้ง ซึ่งเป็นผลมาจาก ‘เอลนีโญ’ จะทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ตลอดจนรัสเซียไม่รับรองความปลอดภัยในทะเลดำอีกต่อไป เป็นปัญหาใหญ่ต่อการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรพซีด  ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นอุปสรรคสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของภาคปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาปรับขึ้นมากกว่า 30% ในปี 2565 และในปีนี้ราคาสูงขึ้นทันที 5-10% หลังรัสเซียประกาศซ้ำรอยเดิมแบบไม่แคร์ประชาคมโลกไม่รับรองความปลอดภัยของเรือขนส่งสินค้าที่มุ่งหน้าไปยูเครน ที่เป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ระดับแนวหน้าของโลก สร้างความกังวลกับภาคปศุสัตว์ไม่น้อย แต่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมเพราะทั้งราคาอาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ นม อยู่ในอาณัติของกรมการค้าภายในทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา สมาคมภาคปศุสัตว์หลายสมาคม อาทิ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ต่างได้รับความเดือดร้อนจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในสูตรอาหารสัตว์ ได้ร้องขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายอาหาร ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ : ข้าวสาลี ในอัตรา 3:1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน)  และยกเลิกภาษีนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง 2% ซึ่งถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้สอดคล้องกับการผลิตและความต้องการในประเทศ  ข้อเท็จจริง คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันราคาในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาประกันของภาครัฐกำหนดไว้ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยมาหลายรอบ ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดของไทยต่ำกว่าความต้องกถึง 3 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้าและต้องหาแหล่งที่มีต้นทุนเหมาะสม ส่วนภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% นั้น เป็นการอุดหนุนโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลืองให้ขายกากถั่วเหลืองให้กับโรงงานอาหารสัตว์ได้ในราคาสูง แลกกับภาษีที่จ่ายรัฐเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารของประชาชนมาก ที่สำคัญไทยผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 20,000 ตัน แต่นำเข้ากากถั่วเหลือและเม็ดถั่วเหลืองรวม 5 ล้านตันต่อปี

ล่าสุด เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม รายงานว่า เกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก ทยอยปิดกิจการออกจากวงการไปประกอบอาชีพอื่น ที่ไม่เสี่ยงต่อการขาดทุน เหตุผลหลักจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูง ขณะที่ราคากลางน้ำนมดิบอยู่ 21.25 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกับต้นทุน ซึ่งสหกรณ์ต่างๆ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลควรมีการทบทวนราคากลาง และเพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านอาหารสัตว์ และการเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำนมให้เดินหน้าเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ  ก่อนหน้านี้ เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ เป็น 4 บาทต่อฟอง มีเหตุผลหลักมาจากอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งที่ย้อนหลังเกือบ 30-40 ปี ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นเช่น น้ำมันเชื้อเพลิงหรือราคาทองคำ ทั้งที่ปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบอาหารสัตว์ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับต้นทุนการผลิตไข่ไก่ล่าสุดอยู่ที่ 3.80 บาทต่อฟอง

ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นอกจากต้องเผชิญปัญหาราคาลงทุกสัปดาห์แล้ว ยังมีปัญหาใหญ่อีก 2 ด้าน คือ 1. ราคาวัตถุดิบอาหารสูง 2. การลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อราคา แม้จะผ่อนคลายบ้างก็ตาม แต่ราคายังลดลงต่อเนื่อง จากผลผลิตออกสู่ตลาดเกินความต้องการ (Oversupply) ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนสะสมต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มได้เพียง 62-74 บาท (เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566) แต่ขายได้จริงเพียง 55 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น จtเห็นได้ว่าเกษตรกรเริ่มจับหมูขนาดเล็กไปทำ “หมูหัน” เพื่อลดปริมาณซัพพลายที่จะเข้าสู่ตลาด หวังดึงการาคาให้สูงขึ้น

การปล่อยให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงโดยไม่แก้ไข ผู้เลี้ยงสัตว์และผู้ประกอบการอาหารสัตว์ มองเห็นการภาวะขาดทุนในระยะยาว ก็จำเป็นต้องเปิดกิจการ จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารมั่นคงและการเข้าถึงอาหารของผู้บริโภคทั้งประเทศ เพียงเพราะมาตรการของภาครัฐที่ปฏิบัติกันมายาวนาน ทั้งที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ เพราะในประเทศผลิตไม่พอใช้ การยกเลิกมาตรการ “ปลดล็อก” ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าและใช้กลไกตลาดสร้างสมดุลราคา ดีกว่า “ยื้อ” แต่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย ที่สำคัญคนไทยจะมีหลักประกันอาหารเพียงพอในราคาสมเหตุผล จากต้นทุนที่แข่งขันได้ สร้างอาหารมั่นคงให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน.

ภาพ/ข่าว โดย: จุฑา ยุทธหงสา นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์