การดำเนินงานของกรมกิจการผู้สูงอายุ เริ่มดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ เมื่อปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2562 ได้มีผลการดำเนินงานตามภารกิจในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ คุ้มครอง และจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม สภาพแวดล้อม นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการบูรณาการกับกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุ จำนวน 11.03 ล้านคน ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 4.9 ล้านคน รวมทั้ง ได้รับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดตามอายุขั้นต่ำ 600 บาท ถึง 1,000 บาทต่อเนื่องทุกคน นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เห็นชอบให้สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดมาตรการเร่งด่วน 10 มาตรการ โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายให้เกิดความยั่งยืน 6 มาตรการ และการเปลี่ยนแปลง 4 มาตรการ โดยมีเป้าหมายร่วม เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นพฤติพลัง (Active Ageing) ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525–2544)” และ “แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำ แผนปฏิบัติการดำเนินงานผู้สูงอายุทุกระดับในทุก 5 ปี และขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2580)