นางสาวสุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางเข้าร่วมงาน “เทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566” ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีพร้อมส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมกันนี้ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงชนะเลิศถ้วยพระทานฯ และเปิดการแสดง แสง สี เสียง ชุด “ศรัทธาแห่งพิมาย” โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ให้การต้อนรับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า
งาน “เทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566” เป็นงานประเพณีสำคัญของจังหวัดนครราชสีมาที่จัดขึ้นด้วย
ความร่วมมือของจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ททท. และหน่วยงานท้องถิ่น ในวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน 2566 โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมมากมาย อาทิ การจำหน่ายอาหารท้องถิ่น การจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ การจำหน่ายสินค้า OTOP และแสดง แสง สี เสียง ชุด “ศรัทธาแห่งพิมาย”

รมว. ท่องเที่ยว ร่วมงาน “เทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566”  เปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงชนะเลิศถ้วยพระราชทานฯ และการแสดง แสง สี เสียง ชุด “ศรัทธาแห่งพิมาย”

สำหรับการแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงชนะเลิศถ้วยพระทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นมงคลเกียรติยศแก่ชาว
พิมาย จังหวัดนครราชสีมา อย่างยิ่ง รวมถึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสมัครสมานสามัคคีและร่วมกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษ โดยในปีนี้มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 40 ลำ ประกอบด้วย เรือยาว 40 ฝีพาย 30 ฝีพาย และ 20 ฝีพาย แข่งกันในลำน้ำจักราช ซึ่งเป็นลำน้ำที่ได้มาตรฐานการแข่งขันเรือยาวของประเทศไทย

อำเภอพิมายนับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และยังเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมายซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมและทางการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาและของประเทศไทย การที่หน่วยงานท้องถิ่นได้ร่วมมือกันจัดงานเทศกาลเที่ยวพิมายขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวโคราช กระตุ้นการเดินทาง กระจายรายได้สู่ประชาชน และจะช่วยการส่งเสริม
การท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาให้เติบโตและเป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างแน่นอน