เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ซานตง เอเนอร์จี กรุ๊ป (Shandong Energy Group), หัวเว่ย (Huawei) และ อวิ๋นติง เทคโนโลยี (Yunding Technology) ได้ร่วมกันเปิดตัว ผานกู่ ไมน์ โมเดล (Pangu Mine Model) ซึ่งเป็นโมเดล AI ขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์สำหรับภาคพลังงานตัวแรกของโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมเหมือง รวมทั้งเปลี่ยนผ่านการพัฒนาโมเดล AI ระดับเวิร์กช็อปไปสู่การพัฒนาระดับโรงงาน

 คุณหลี่ เว่ย (Li Wei) ประธานของซานตง เอเนอร์จี กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีและอุปกรณ์อัจฉริยะชั้นนำระดับโลก หัวเว่ยมีเป้าหมายเดียวกันกับซานตง เอเนอร์จี ในการพลิกโฉมสู่ดิจิทัล โดยทั้งสองบริษัทต่างเติมเต็มซึ่งกันและกันและเสริมสร้างกำลังให้กันและกัน เราตั้งเป้าที่จะยกระดับความชาญฉลาดของอุตสาหกรรมเหมือง ด้วยการขยายขอบเขตการประยุกต์ใช้ AI ในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก รวมถึงใช้ AI อย่างต่อเนื่องเพื่อการทำงานที่เป็นอัตโนมัติมากขึ้น บรรลุประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้แรงงาน และยกระดับความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเหมือง”

 ในฐานะผู้บุกเบิกการใช้โมเดล AI ขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์สำหรับภาคพลังงานเป็นครั้งแรกของโลก ซานตง เอเนอร์จี, อวิ๋นติง เทคโนโลยี และหัวเว่ย ได้เริ่มใช้งานแอปพลิเคชัน AI ชุดแรกสำหรับเหมือง ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากโมเดล AI ขนาดใหญ่สำหรับภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว โดยมีสถานการณ์การใช้งานทั้งหมด 21 สถานการณ์ ครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินงาน 9 กิจกรรม ได้แก่ การขุดถ่านหิน การขุดอุโมงค์ การขนส่งหลัก การขนส่งรอง การยก การตรวจสอบความปลอดภัย การป้องกันหินระเบิด การเตรียมถ่านหิน และการผลิตถ่านโค้ก    ทั้งนี้ หินระเบิดเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างมากสำหรับการขุดเหมือง วิธีการหลัก ๆ ในการป้องกันปัญหาดังกล่าวคือการขุดหลุมลดแรงดัน โดยต้องคำนึงถึงคุณภาพของการขุดเจาะด้วย ซึ่งซานตง เอเนอร์จี สามารถจัดการกับความท้าทายนี้ได้ในเหมืองถ่านหินหลี่โหลว (Lilou) และซินจวีหลง (Xinjulong) ด้วยการใช้โมเดล AI ขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการจดจำภาพ โดยโมเดลสามารถวิเคราะห์คุณภาพของการขุดหลุมลดแรงดันได้อย่างชาญฉลาด และช่วยบุคลากรที่มีหน้าที่ป้องกันหินระเบิดในการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งลดภาระงานตรวจสอบลงถึง 82% จากเดิมที่เคยใช้เวลา 3 วันในการตรวจสอบ ตอนนี้ใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น โดยมีอัตราการยอมรับ 100%

 ซานตง เอเนอร์จี, อวิ๋นติง เทคโนโลยี และหัวเว่ย ได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมร่วมเมื่อต้นปี 2565 เพื่อทำให้เหมืองมีความชาญฉลาดมากขึ้น จึงได้มีการเปิดตัว ผานกู่ โมเดล ที่มีระบบจัดการการดำเนินงานและการผลิตอัจฉริยะแยกออกจากกัน มีการประมวลผลข้อมูลในแคมปัส การจำลองแบบขนาดใหญ่ รวมถึงการเรียนรู้และการวิเคราะห์จากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก โดยระบบปฏิบัติการ AI ของศูนย์นวัตกรรมร่วมดังกล่าวใช้ประโยชน์จากการเทรนส่วนกลาง การอนุมานบนเอดจ์ การประสานงานบนคลาวด์ การเรียนรู้จากการใช้งาน และการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระบบการจัดการ AI ของศูนย์นวัตกรรมร่วมดังกล่าวประกอบด้วยการจัดการแบบกลุ่มและการดำเนินงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานผลิตถ่านหินเปลี่ยนผ่านจากการทำงานเชิงรับและการใช้แรงงานคน ไปสู่การทำงานเชิงรุกอย่างชาญฉลาด

 คุณโจ่ว จือเล่ย (Zou Zhilei) ประธานกลุ่มธุรกิจเหมืองของหัวเว่ย (Huawei Mine BU) กล่าวว่า “AI จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองต่อไป และมีบทบาทสำคัญในการทำให้การผลิตถ่านหินปลอดภัยมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงดำเนินงานแบบกึ่งอัตโนมัติหรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบ หัวเว่ยยังคงมุ่งมั่นที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม และทำให้ขีดความสามารถอันทรงพลังของ ผานกู่ โมเดล เข้าถึงอุตสาหกรรมที่หลากหลายยิ่งขึ้น เราจะร่วมมือกับพันธมิตรและทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและสร้างมูลค่าที่มากขึ้น การเปิดตัว ผานกู่ ไมน์ โมเดล เชิงพาณิชย์ตัวแรกได้สร้างแรงกระตุ้นใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมเหมืองและภาคพลังงานโดยรวม”