นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจน สู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น” วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมขับเคลื่อนให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีเจตคติที่เคารพความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเปิดโอกาสให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ โดยเริ่มต้นจากรากฐานครอบครัวที่อบอุ่นเข้มแข็ง ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
พม. จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจน สู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น”

สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล เป็นวาระที่สตรีและผู้ที่ทำงานด้านสตรีทั่วโลกร่วมฉลองและระลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา ประเทศไทยได้เริ่มจัดงานวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2532 ปัจจุบันเป็นปีที่ 35 ซึ่ง พม. ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทุกภาคส่วนด้วยดีเสมอมา
ภารกิจของรัฐบาลด้านการพัฒนาสตรีและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ซึ่งดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบกับนโยบาย พม. หนึ่งเดียว ที่มุ่งมั่นเสริมพลัง สร้างโอกาส และพัฒนาคนทุกช่วงวัย และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี อาทิ อนุสัญญา CEDAW ปฏิญญาปักกิ่ง และ SDG เป้าหมายที่ 5 โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสตรี (พ.ศ. 2566 – 2570) ขึ้นเพื่อเป็น Roadmap ของ พม. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีวิสัยทัศน์ คือ “สังคมไทยเป็นสังคมที่ตระหนักและเข้าใจถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ สตรีและเด็กหญิงจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ และมีบทบาทการนำในพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียม” ที่ผ่านมา พม. ได้กำหนดนโยบายด้านการเสริมพลังผู้หญิงและเด็กหญิง เร่งลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับการพัฒนาสตรี ผ่านโครงการมากมาย อาทิ การผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการใช้จ่ายงบประมาณได้คำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างของเพศสภาพของบุคคล การผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อผู้หญิง ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลาของสามี มาตรการขยายวันลาคลอดของมารดา และมาตรการขยายบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานรับเลี้ยงเด็ก การส่งเสริมบทบาทผู้หญิงให้เป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ การพัฒนากลไกเพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทุกรูปแบบ การพัฒนาศักยภาพสตรีให้สามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การสร้างอาชีพสร้างรายได้ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทให้ก้าวสู่ระดับสากล การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ภายใต้นโยบายวันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว ฯลฯ

พม. จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจน สู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น”

สำหรับงานวันสตรีสากล ในปี 2567 นี้ พม. ได้จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับที่สตรีดีเด่นสาขาต่าง ๆ รวมถึงบุคคลและหน่วยงานองค์กรที่ทำงานด้านสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ จากทั่วประเทศ จากนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ประธานในพิธี ร่วมด้วยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดี สค. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ผู้แทนองค์กรสตรีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล โดยในปีนี้มีสตรี บุคคล หน่วยงาน และองค์กรที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 16 สาขา รวม 64 รางวัล และภายในงานยังมีนิทรรศการเชิดชูเกียรติสตรี บุคคล หน่วยงานที่ได้รับรางวัล ความเป็นมาของวันสตรีสากล รวมถึงนิทรรศการของเครือข่ายที่ร่วมปฏิบัติงานด้านการพัฒนาสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ อาทิ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย AWEN THAILAND UN Women และ UNFPA
รางวัลเนื่องในวันสตรีสากลอันทรงเกียรตินี้เป็นการสนับสนุนความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของสตรีดีเด่นด้านต่าง ๆ ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ และผู้ที่ทำงานด้านพิทักษ์สิทธิและพัฒนาศักยภาพสตรี เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และความผาสุกให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง