SCB EIC คงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 ไว้ที่ 3.9% ตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยวรวมถึงภาคบริการที่ฟื้นตัวดี แม้การส่งออกไม่สดใสนัก โดยการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ที่ 30 ล้านคน ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสแตะ 1.27 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในปี 2562 มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้านการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีไม่สดใสนักและเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญของเศรษฐกิจ SCB EIC ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกสินค้าไทยปีนี้เหลือ 0.5% (เดิม 1.2%) จากอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแอ แรงหนุนตลาดส่งออกจีนที่แผ่วกว่าคาด และความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในกรณีฐานเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเผชิญกับเอลนีโญระดับอ่อนถึงรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายในภาคเกษตรราว 40,000 ล้านบาทโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นปีหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมากอยู่ที่ 2.1% ตามราคาพลังงานในประเทศที่ปรับลดลง แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงเทียบจากอดีตอยู่ที่ 1.7% สะท้อนการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

SCB EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 อยู่ที่ 2.1% (เดิม 2.3%) เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจต้นไตรมาส 2 ออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการยังมีความแตกต่างกันสูง อีกทั้งความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้นอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี เช่น มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มถูกกดดันทั้งจากอุปสงค์ที่ลดลง เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำลง รวมถึงปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีโอกาสรุนแรงมากขึ้น

ธนาคารกลางสำคัญมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกไม่เกิน 1-2 ครั้งในปีนี้ จากเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มปรับลดลงช้าตามภาวะตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับลดลงเร็วกว่าคาดและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงทยอยกลับมาเป็นบวก วงจรการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกจึงมีแนวโน้มใกล้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี มาตรการ Quantitative tightening ของเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) จะทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกปรับลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลต่อตลาดการเงินของเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) ผ่านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และนโยบายภาครัฐ SCB EIC มองในกรณีฐาน ไทยจะได้รัฐบาลใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคม คาดว่าจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณนี้ไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนและเร่งอนุมัติโครงการลงทุนไว้ก่อนยุบสภา อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจล่าช้าไปถึงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งจะกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ นโยบายหาเสียงสำคัญที่จะผลักดันต่อไปเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ในกรณีฐาน SCB EIC คาดว่านโยบายหลักของแกนนำรัฐบาลชุดใหม่จะส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการบริโภค รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่บางธุรกิจอาจได้รับผลลบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงบางกลุ่มธุรกิจที่มีประเด็นผูกขาดทางการค้า ด้านหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกฉากทัศน์ของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จากการดำเนินการตามรายจ่ายจากชุดนโยบายหาเสียง นอกเหนือจากแรงกดดันจากรายจ่ายเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีอยู่เดิม สะท้อนความจำเป็นต้องปฏิรูปการคลังเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง

SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินไทยจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ Terminal rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อแม้จะกลับมาอยู่ในกรอบแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ภาวะการเงินไทยจึงมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง ในระยะสั้นเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่าและเงินบาทได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากเงินหยวนอ่อนค่า อย่างไรก็ดี เงินบาทจะปรับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะปรับดีขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่าหลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย