มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ ม.แม่ฟ้าหลวง ผนึกกำลัง 15 สถาบันอุดมศึกษา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ (North-South University Network: NSU- Net) เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือทางการศึกษาภาคเหนือและภาคใต้สู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการ การวิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรม วางเป้าหมายยกระดับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติและความเป็นระดับสากล

          ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้นำเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคใต้ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะเป็นผู้นำเครือข่ายมหาวิทยาภาคเหนือ ร่วมกับ 15 สถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ (North-South University Network: NSU- Net) เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการภาคเหนือและภาคใต้สู่ความเป็นเลิศร่วมกันในระดับมหาวิทยาลัยและระดับภาควิชาหรือคณะต่างๆ เพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ the North-South University Network (NSU-Net) ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง 6 สถาบันอุดมศึกษากลุ่มภาคเหนือ ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ ม.พะเยา ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ม.ราชภัฏเชียงราย โดยมี ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นแม่ข่าย ส่วนสถาบันอุดมศึกษากลุ่มภาคใต้ประกอบด้วย 11 สถาบัน ได้แก่ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.ทักษิณ ม.วลัยลักษณ์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ม.ราชภัฏสงขลา ม.ราชภัฏยะลา ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ม.ราชภัฏภูเก็ต ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี โดยมี ม.สงขลานครินทร์ เป็นแม่ข่าย

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ

ทั้งนี้ การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ ครั้งที่ 1 (The 1st NSU-Net Presidents’ Forum) ภายใต้หัวข้อ Sustainable Networking for a Better Future Together มีวาระการประชุมกลุ่มย่อยของคณะผู้บริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรในยุค Digital กลุ่มที่ 2 การพัฒนาการเรียนการสอนสมัยใหม่ร่วมกัน การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและทักษะของนักศึกษาในฐานะเป็นพลเมืองโลก การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยเครือข่ายผ่านโครงการ Visiting Scholars ในลักษณะ cost sharing การลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และการเทียบโอนผลการเรียนข้ามสถาบันภายในมหาวิทยาลัยเครือข่ายเหนือ-ใต้ และ Collaborative Online International Learning (COIL) Programme

            กลุ่มที่ 3 ประเด็นเครือข่ายในต่างประเทศ (International Networking) เป็นการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การสร้างเครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเหนือใต้ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี (best practice) ระหว่าง IROs ของมหาวิทยาลัยเหนือ-ใต้ และการจัด Virtual Mobility หรือ Virtual Camp ร่วมกัน

“ความร่วมมือการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเหนือ – ใต้ ที่มีอย่างต่อเนื่อง จะเป็นก้าวสำคัญระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาภาคเหนือและมหาวิทยาภาคใต้ เพื่อบูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการ การพัฒนางานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับประเทศไทย ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติยกระดับสู่ความเป็นสากลต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.นิวัติ กล่าว