นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเดินทางไปประเทสหรัฐอเมริกาของดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารวิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะทำงานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทย กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญและการให้การสนับสนุนของวุฒิสมาชิก แทมมี่ ดักเวิร์ท และ วุฒิสมาชิก ดิค เดอร์บิน ประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากในวุฒิสภาแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ ในระหว่างวันที่ 5-12 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น ทางหน่วยงานที่สหรัฐทั้งด้านการศึกษา และการบริหารจัดการน้ำฯ ต่างให้ความสำคัญและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงการไปเยือนและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยและสหรัฐในครั้งนี้อย่างมาก

นางดรุณวรรณ กล่าวว่า นอกจากสื่อไทยที่ได้เผยแพร่ข่าวการเยือนสหรัฐของดร.คุณหญิงกัลยาและคณะฯ ในครั้งนี้ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ทางสหรัฐต่างก็ให้ความสำคัญกับการไปเยือนและได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เช่น Metropolitan Water Reclamation District of Greater Chicago (MWRD) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาและการจัดการน้ำเสียของสหรัฐ  รวมไปถึง American Water Works Association (AWWA) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรสากล ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดหาน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2424 ซึ่งมีสมาชิกจากทั่วโลกประมาณ 50,000 คน  ก็ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐในครั้งนี้ด้วยผ่านทางเว็บไซต์ เพจ รวมไปถึงจดหมายข่าว (Newsletter) ซึ่งได้มีการรายงานข่าวดังกล่าวให้บุคลากรภายในองค์กร และบุคคลภายนอกได้ทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณวุฒิสมาชิก แทมมี่ ดักเวิร์ท และ วุฒิสมาชิก ดิค เดอร์บิน ประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากในวุฒิสภาแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ รวมถึงทีมงานที่ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการดูงานครั้งนี้ และเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญพร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าการที่หน่วยงานสหรัฐให้การผลตอบรับ และให้ความสำคัญดังกล่าวจะนำมาซึ่งความร่วมมือที่ขยายวงกว้างมากขึ้นทั้งในด้านการศึกษาและการบริหารจัดการน้ำฯ โดยเฉพาะการต่อยอดองค์ความรู้ในหลักสูตร “ชลกร” ให้อยู่ในระดับสากลต่อไปในภายภาคหน้า