“แมวขาวหรือแมวดำไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” วาทะข้างต้นของอดีตผู้นำ เติ้ง เสี่ยวผิง คือภาพสะท้อนการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน เมื่อจีนได้เลือกเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ ก่อนที่เติ้งจะนำจีนเดินไปบนเส้นทางแห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศในปีพ.ศ.2521 จีนนั้นถูกขังอยู่ในกรอบของอุดมการณ์ พยายามจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมกับทุนนิยม ยืนกรานความคิดของตนว่าทุกอย่างและอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสังคมนิยมย่อมต้องดีกว่าระบบทุนนิยม

ในช่วงเวลานั้น สังคมจีนอาจบรรลุความเท่าเทียมในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่มันกลับกลายเป็นความยากจน ทุกคนยากจนอย่างเท่าเทียมกัน เติ้งประกาศว่า หากสังคมนิยมหมายถึงความยากจน อุดมการณ์นั้นก็ไม่เหมาะกับจีน และได้เลือกสังคมนิยมแบบจีนเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ทางเลือกดังกล่าวไม่ใช่การยึดติดอยู่กับเศรษฐกิจที่ควบคุมจากส่วนกลางอย่างเข้มงวด โดยเมื่อประเทศเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนา จีนก็เริ่มเปิดกว้างและปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม

นับตั้งแต่นั้น สังคมนิยมแบบจีนก็ได้กลายเป็นพลังแห่งการปลดปล่อยที่ทรงพลังที่สุดของจีน ก่อเกิดนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้ประกอบการ และผลิตภาพ จีนเป็นประเทศที่มีพลวัตมากขึ้น มีการลองผิดลองถูก และมองการณ์ไกล ขณะที่ชาวจีนกลายเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในการปฏิรูปและการทดลองทางสังคม ในบริบทกว้าง ๆ นี้เองที่จีนได้พลิกโฉมประเทศจนก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก อีกทั้งการเป็นประเทศสังคมนิยมยังไม่ขัดกับการส่งเสริมเศรษฐกิจระบบตลาดและการค้าระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2544 การส่งออกของจีนขยายตัวขึ้นเกือบสิบเท่าเป็นมูลค่า 2.59 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบแปดเท่าครึ่งเป็น 2.05 ล้านล้านดอลลาร์ ความยืดหยุ่นของสถาบันชาติอธิบายความก้าวหน้าเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี โดยช่วยให้ชาวจีนหลุดพ้นจากความยากจน ตลอดจนการแบ่งแยกอุดมการณ์และความเห็นต่างทางการเมือง พร้อมปลูกฝังจิตวิญญาณที่เข้มแข็งของการเป็นนักปฏิบัติ มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง และขยันทำงาน หนักเอาเบาสู้

จีนก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วสู่ศตวรรษที่ 21 และเข้าสู่ยุคใหม่ของสังคมนิยมแบบจีน ตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศไว้ สังคมจีนในปัจจุบันเป็นสังคมที่ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและระบบพหุภาคี ขณะที่จีนกลายเป็นผู้นำในการสนับสนุนการค้าเสรี การพัฒนาที่ยั่งยืน การบรรเทาความยากจน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าสังคมนิยมหรือทุนนิยม ขอเพียงตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ก็ถือว่าเป็นระบบที่ดี ดังคำกล่าวของเติ้ง เสี่ยวผิงที่ว่า แมวขาวหรือแมวดำไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ