ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้การต้อนรับ แพทย์หญิง เอเดรียนา บลังโก มาร์กิโซ (Dr. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC) และคณะในการประชุมเพื่อสรุปผลการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment)  การดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกของไทย

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า จากการที่ทีมประเมินได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) ในการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการประเมินครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทบทวน พัฒนา และปรับปรุงนโยบาย มาตรการ และกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขและภาคีที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเป็นสำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้ 1.การเร่งสร้างความเข้าใจถึงการปกป้องนโยบายจากการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบ ตามข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาฯ WHO FCTC ให้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และฝ่ายบริหาร  2.องค์การอนามัยโลก พร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลใหม่ของไทยในการคงมาตรการห้ามนำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อปกป้องการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าเสพติดและทำลายสุขภาพ  3.กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ควรสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานควบคุมยาสูบซึ่งดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกลไกคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นไปตามบริบทของพื้นที่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ  4.กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข ควรร่วมกันจัดเตรียมข้อมูล เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีของพิธีสารเพื่อขจัดการค้าบุหรี่ผิดกฎหมาย รวมถึงแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับนโยบายภาษีสำหรับการควบคุมบริโภคยาสูบ ตามคำแนะนำของแนวปฏิบัติข้อที่ 6 ว่าด้วยมาตรการราคาและภาษี ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฯ โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราภาษียาเส้น ซึ่งประเทศไทยเก็บภาษีในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับบุหรี่ซิกาแรต ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาเส้นได้ง่าย ส่งผลให้จำนวนผู้สูบยาเส้นยังสูงอยู่

นายแพทย์นิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศไทยมีโอกาสเข้ารับการประเมินครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีมากในการต่อยอดการดำเนินงานควบคุมยาสูบของประเทศไทย เนื่องจากได้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทำให้เกิดมุมมองในการทำงานหลากหลายและรอบด้านมากขึ้น โดยสรุปผลการประเมินครั้งนี้ จะมีการถ่ายทอดสื่อสารไปสู่ระดับจังหวัด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ตามบริบทต่อไป