สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลงานวิจัยของประเทศ รวมทั้งงานวิจัยมุ่งเป้าด้านยางพารา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เนื่องจากยางพาราหรือยางธรรมชาติเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท
โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารามากที่สุดในโลกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 แต่เกษตรกรชาวสวนยางได้ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ยางพาราจัดเป็นพืชเกษตรอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) แต่ประเทศไทยใช้วัตถุดิบยางพาราทั้งน้ำยางข้นและยางแห้งชนิดต่าง ๆ มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ยางล้อ ถุงมือยาง ที่นอน หมอนและผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เพียงแค่ 13-14% เท่านั้น แต่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราสูงเป็น 2 เท่าของวัตถุดิบยางพารา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติพิจารณาเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ยั่งยืน ต้องเน้นการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำยางพาราไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มาก ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value-added) และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ จะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพและราคาขยับสูงขึ้นได้ด้วย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาร่วมเสวนาเพื่อแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ เรื่อง “ผ่าทางตันแก้ไขปัญหายางพาราด้วยงานวิจัยแหละนวัตกรรม” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ คุณสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ สำนักงานบูรณาการวิจัยมุ่งเป้า กลุ่มเรื่องยางพารา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีคุณอภิญญา บุญยะประณัย ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ทั้งนี้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หวังว่าการจัดเสวนานี้จะได้แนวทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้ผลิตภัณฑ์ยางชนิดใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมยางพาราของประเทศเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านยางพารา 3 ฝ่าย ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขึ้นในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง วช. กยท. และ สกสว. ในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยด้านยางพารา ส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การประชุม สัมมนาวิชาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงอุตสาหกรรมไม้ยางพาราด้วย