กรมควบคุมโรค แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในประเทศไทย กับประเทศเปรู ภายใต้ความร่วมมือทางเเพทย์และสาธารณสุข ที่จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยไทยบรรลุเป้าหมายประชาชนได้วัคซีน 2 โดสแล้วจำนวน 50.4 ล้านคน หรือ 72.5% ของประชากรทั้งหมด โดยภาพรวมฉีดวัคซีนเเล้วกว่า 130.2 ล้านโดสทั่วประเทศไทย ด้วยความร่วมมือหลายภาคส่วนผสมผสาน กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย
เมื่อวันที่ (6 เมษายน 2565) ที่ผ่านมา นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมการประชุมทางไกล “Peruvian Experience in the Third Wave of Covid-19 and the Exchange of Experiences in Vaccination Management with Thailand” พร้อมด้วย Mr José Antonio Gonzáles Norris, Executive Director of the Peruvian Agency for International Cooperation (APCI) โดยการประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) Dr. Luis Seminario Carrasco, General Director of the National School of Public Health of the Ministry of Health นายสรยุทธ ชาสมบัติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา เเละ H.E. Mr. Fernando Julio Antonio Quirós Campos เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรู ประจำประเทศไทย ในพิธีเปิดการประชุม
นายเเพทย์โสภณ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการเเลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการเเพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศไทยเเละประเทศเปรู ครั้งที่ 4 ภายใต้ความร่วมมือของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศไทย กับกระทรวงการต่างประเทศเปรู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเเลกเปลี่ยนองค์ความรู้เเละประสบการณ์ กับผู้บริหารสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ เเละผู้เเทนจากองค์กรต่างๆ ของประเทศเปรูเเละประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้เน้นการเเลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ระหว่าง 2 ประเทศ โดยภาพรวมการฉีดวัคซีนตั้งเเต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 เมษายน 2565 ไทยฉีดวัคซีนให้กับคนที่อาศัยในประเทศไทยเเล้วกว่า 130.2 ล้านโดส เข็มแรก ร้อยละ 80.1 เข็มสอง ร้อยละ 72.5 และเข็มกระตุ้นร้อยละ 34.6 รวมทั้งสิ้น 130.2 ล้านโดส
ในระยะที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการจัดหาและบริการวัคซีนผ่านหลายกลยุทธ์ อาทิ 1) การเปิดหน่วยบริการในโรงพยาบาลชุมชน เอกชน หรือหน่วยบริการที่ห้างสรรพสินค้า การฉีดวัคซีนที่หัวเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยว 2) การกระตุ้นการฉีดวัคซีนในวันสำคัญทางการเเพทย์ เช่น วันมหิดล 3) การออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อฉีดวัคซีนแก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่เดินทางลำบาก หรือนักเรียนในสถานศึกษา 4) การสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในเรื่องประโยชน์ของการฉีดวัคซีน อาการข้างเคียง เเละการดูเเลภายหลังการฉีดวัคซีน 5) การศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัย การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของวัคซีน เเละนำมาปรับใช้ในแผนการบริการวัคซีน
นายเเพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยยังมีความท้าทายในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 หลายประการ เช่น การปรับแผนการให้บริการกลุ่มเป้าหมายหลัก เเละพื้นที่เร่งรัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาด ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้สำเร็จคือ การยกระดับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นวาระเเห่งชาติ จากการร่วมมือทุกภาคส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้มาใช้ปรับเปลี่ยนนโยบายเเละการทำงาน การสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนภายใต้ความร่วมมือจากสื่อมวลชน เเละการบูรณาการกฎหมายหลายฉบับ เพื่อจัดหาเเละบริหารจัดการการให้วัคซีนจำนวนมากได้สำเร็จ บรรลุเป้าหมายตามแผนงานในระยะเวลาที่กำหนดไว้