กรมควบคุมโรค แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในประเทศไทย กับประเทศเปรู ภายใต้ความร่วมมือทางเเพทย์และสาธารณสุข ที่จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยไทยบรรลุเป้าหมายประชาชนได้วัคซีน 2 โดสแล้วจำนวน 50.4 ล้านคน หรือ 72.5% ของประชากรทั้งหมด โดยภาพรวมฉีดวัคซีนเเล้วกว่า 130.2 ล้านโดสทั่วประเทศไทย ด้วยความร่วมมือหลายภาคส่วนผสมผสาน    กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย

เมื่อวันที่ (6 เมษายน 2565) ที่ผ่านมา  นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมการประชุมทางไกล “Peruvian Experience in the Third Wave of Covid-19 and the Exchange of Experiences in Vaccination Management with Thailand” พร้อมด้วย Mr José Antonio Gonzáles Norris, Executive Director of the Peruvian Agency for International Cooperation (APCI) โดยการประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ​ (TICA) Dr. Luis Seminario Carrasco, General Director of the National School of Public Health of the Ministry of Health นายสรยุทธ ชาสมบัติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา เเละ  H.E. Mr. Fernando Julio Antonio Quirós Campos เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรู ประจำประเทศไทย ในพิธีเปิดการประชุม

กรมควบคุมโรค แลกเปลี่ยนประสบการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กับประเทศเปรู

นายเเพทย์โสภณ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการเเลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการเเพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศไทยเเละประเทศเปรู ครั้งที่ 4 ภายใต้ความร่วมมือของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศไทย กับกระทรวงการต่างประเทศเปรู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเเลกเปลี่ยนองค์ความรู้เเละประสบการณ์ กับผู้บริหารสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ เเละผู้เเทนจากองค์กรต่างๆ ของประเทศเปรูเเละประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้เน้นการเเลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ระหว่าง 2 ประเทศ  โดยภาพรวมการฉีดวัคซีนตั้งเเต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 เมษายน 2565 ไทยฉีดวัคซีนให้กับคนที่อาศัยในประเทศไทยเเล้วกว่า 130.2 ล้านโดส เข็มแรก ร้อยละ 80.1 เข็มสอง ร้อยละ 72.5 และเข็มกระตุ้นร้อยละ 34.6 รวมทั้งสิ้น 130.2 ล้านโดส

ในระยะที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการจัดหาและบริการวัคซีนผ่านหลายกลยุทธ์ อาทิ 1) การเปิดหน่วยบริการในโรงพยาบาลชุมชน เอกชน หรือหน่วยบริการที่ห้างสรรพสินค้า การฉีดวัคซีนที่หัวเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยว  2) การกระตุ้นการฉีดวัคซีนในวันสำคัญทางการเเพทย์ เช่น วันมหิดล  3) การออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อฉีดวัคซีนแก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่เดินทางลำบาก หรือนักเรียนในสถานศึกษา  4) การสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในเรื่องประโยชน์ของการฉีดวัคซีน อาการข้างเคียง เเละการดูเเลภายหลังการฉีดวัคซีน  5) การศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัย การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของวัคซีน เเละนำมาปรับใช้ในแผนการบริการวัคซีน

นายเเพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยยังมีความท้าทายในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 หลายประการ เช่น การปรับแผนการให้บริการกลุ่มเป้าหมายหลัก เเละพื้นที่เร่งรัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาด  ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้สำเร็จคือ การยกระดับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นวาระเเห่งชาติ จากการร่วมมือทุกภาคส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้มาใช้ปรับเปลี่ยนนโยบายเเละการทำงาน การสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนภายใต้ความร่วมมือจากสื่อมวลชน เเละการบูรณาการกฎหมายหลายฉบับ เพื่อจัดหาเเละบริหารจัดการการให้วัคซีนจำนวนมากได้สำเร็จ บรรลุเป้าหมายตามแผนงานในระยะเวลาที่กำหนดไว้