วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่สากล ภายใต้ทุนวิจัยจาก บพข. สกสว. โดยกองทุน ววน. พัฒนาแอพพลิเคชั่น ใช้แนวคิด PLAY TRAVEL and EARN โดยใช้ “Leisure Lanna Super App” ต่อยอดเชื่อม TAGTHAi (ทักทาย) ด้วยแนวคิดจากการเล่มเกมมาเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อแลกส่วนลดในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนร่วมมือ แอพพลิเคชั่น GOGO และ Hop and Go ของกรีนบัส โลจิสติกส์ท้องถิ่นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา

 การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Leisure Lanna Super App” ภายใต้โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา (Creative Leisure Lanna)” โดยมี ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ เป็นหัวหน้าโครงการ ประยุกต์ใช้แนวคิดของ PLAY TRAVEL and EARN เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว การเดินทาง การแนะนำสถานที่ ร้านค้า ที่พักหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพื้นที่ตลาด (Market Place) ให้กับสินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา เตรียมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 120 ราย ออกแบบกิจกรรมการ ท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ โดยโครงการได้ร่วมมือกับ TAGTHAi (ทักทาย) แพลตฟอร์มบริการด้านการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวโดยเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะในสองระดับคือ ในเขตเมืองเชียงใหม่คือการสร้างความร่วมมือกับระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็ก เช่น Sharing bike เช่น GOGO และผู้ให้บริการท่องเที่ยวด้วยพาหนะขนาดเล็ก เช่น E-Tuk Tuk ของ LoMo ขณะที่เชื่อมโยงสู่แหล่ง ท่องเที่ยวเชื่อมต่อในและนอกเมืองเชียงใหม่ รวมถึงกับจังหวัดโดยรอบผ่านเครือข่ายการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะภาคเหนือบริษัท Green Bus เป็นต้น ทั้งนี้หากสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะและเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็กในเมือง เพื่อมุ่งสู่การสร้าง “Net Zero” ทางการท่องเที่ยว

ในการนี้บพข. กองทุน ววน. ร่วมกับ CAMP จัดกิจกรรมเปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนา “Leisure Lanna Super App” ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แอปพลิเคชัน “Leisure Lanna Super App” เป็นที่รับรู้สู่สาธารณชนและขับเคลื่อนนำไปใช้เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ได้รับเกียรติจากนายสรศักดิ์ วจีสัตย์ รองปลัด อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี และผู้แทนจาก สกสว. และ บพข. โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวแนะนำแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมทั้งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์กางเกงข้างคุณภาพสูงเชียงใหม่ผ่านแบรนด์ 1) Thai Global Sourcing Co.,Ltd 2) Lofbaz Company Limited & Dalla Brand และ 3) Lanna Clothes Design Co.,Ltd ด้วยการถ่ายภาพนักศึกษาจีนจำนวน 30 ราย เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์บนสื่อสังคมของชาวจีนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ปิดท้ายด้วยการเสวนาแนวทางการใช้ประโยชน์แอปพลิเคชัน Leisure Lanna เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและ Soft Power ล้านนา โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ แอปพลิเคชันทักทาย และ CAMT

ทีเค โลจิสติก ซิสเต็มส์ ผนึกความร่วมมือ Demide Global เป็นหุ้นส่วนพิเศษ  ดัน “Lediffer” เครื่องสำอางระดับพรีเมี่ยมสู่ตลาดโลก เปิดตัว “ลีเจฮุน” เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์

นายสรศักดิ์ วจีสัตย์ รองปลัด อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองการท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดที่ได้ส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อน ซึ่งแอปพลิเคชันการท่องเที่ยว Leisure Lanna จะเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดประสิทธิผล เป็นโมเดลในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการพัฒนาศักยภาพสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในการรองรับและสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า ในภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กองทุนส่งเสริม ววน. และสกสว. ได้มอบหมายภารกิจให้ บพข. บริหารจัดการแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนงานย่อย 2 แผนงาน  (1) แผนงานการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งมีกรอบการดำเนินการภายใต้แผนงานย่อย จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ (1.1) การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (1.2) การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (1.3) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และ (2) แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีกรอบการดำเนินการเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นการทำงานแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว มุ่งตอบเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“ทั้งนี้แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง มีฐานทุนทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำ Soft Power 11 สาขา ตามนโยบายของรัฐบาลมาต่อยอดร่วมกับภูมิปัญญาเดิม โดยแผนการดำเนินงานปีพ.ศ. 2566-2570 จะเป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรม สร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่ พัฒนาไปสู่การบูรณาการระหว่างอุตสาหกรรมอื่นๆและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดูแลทั้งระบบนิเวศ พัฒนาสินค้าสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ โดยผลลัพธ์จากงานวิจัยแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านมา อาทิ เทศกาลยี่เป็ง การท่องเที่ยวทางรถไฟ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร 7 ลุ่มน้ำ มวยไทย และผ้าทอ เป็นต้น มีการบูรณาการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและจะดำเนินการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม