กรุงเทพฯ, : ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจ EY 2023 Global DNA of the CFO ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอ (CFO) และผู้บริหารทางการเงินอาวุโสทั่วโลกจำนวน 1,000 ราย ระบุว่า CFO ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกภายในทีมการเงินจะทำให้ได้ผลงานที่ดีขึ้น และมีความพร้อมที่จะสร้างผลงานที่ดียิ่งขึ้นไปอีก มีเพียง 16% ของผู้บริหารระดับสูงด้านการเงินที่มองว่าฝ่ายการเงินมีผลงานที่ยอดเยี่ยมในการกำหนดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง อาทิ เทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินงาน และ 14% กล่าวว่าพวกเขากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกแบบองค์รวมเพื่อพลิกโฉมการดำเนินงานของฝ่ายการเงินในอนาคต

วราพร ปุณโณปกรณ์ หุ้นส่วนฝ่ายตรวจสอบบัญชีและบริการให้คำปรึกษาด้านบัญชีการเงิน อีวาย ประเทศไทย กล่าวว่า“CFO ที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกมีโอกาสจะเพิ่มมูลค่าให้องค์กรได้มากกว่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดย CFO เหล่านี้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของทีมการเงิน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและระบบวิเคราะห์ การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ และการสรรหาผู้นำรุ่นต่อไป” นอกจากนี้ CFO ยังเผชิญกับความต้องการที่ซับซ้อนและขัดแย้งกันจากความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนมูลค่าธุรกิจในระยะยาว และมองหาจุดคุ้มทุนในระยะสั้น โดยผลสำรวจได้ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งพื้นฐาน 3 ประการในบทบาทของ CFO ได้แก่ 1. การสร้างมูลค่าระยะยาวในขณะที่ต้องเผชิญแรงกดดันต้องลดการลงทุนที่มีความสำคัญบางส่วน 2. การจัดการความเสี่ยงควบคู่กับการสร้างคุณค่าเพิ่มผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกและสร้างสรรค์มากขึ้น และ 3. การสืบทอดตำแหน่งผู้นำทางการเงินเชิงกลยุทธ์ และการบรรลุเป้าหมายทางอาชีพ เมื่อทักษะทางการเงินแบบดั้งเดิมไม่ตอบโจทย์คุณสมบัติของ CFO ในยุคปัจจุบันอีกต่อไป

การสร้างสมดุลของการลงทุนที่ให้ความสำคัญก่อนหลังในระยะสั้นและระยะยาว

50% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาบรรลุเป้าหมายกำไรระยะสั้นได้ด้วยการตัดลดงบประมาณที่มีสำหรับเรื่องที่สำคัญในระยะยาว ซึ่ง ESG มีความเสี่ยงที่จะถูกตัดงบประมาณมากที่สุด โดย 37% ระบุว่าองค์กรวางแผนที่จะลดหรือหยุดการใช้จ่ายด้านนี้ใน 12 เดือนข้างหน้า

แผนภาพ: ลำดับความสำคัญของมูลค่าในระยะยาวที่ถูกตัดหรือลดการใช้จ่าย

ที่มาEY 2023 Global DNA of the CFO

การหาจุดที่ลงตัวระหว่างความต้องการระยะสั้นกับมูลค่าระยะยาวจะต้องอาศัยความร่วมมือและความไว้วางใจระหว่างผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินและทีมผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม 67% ของผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินระบุว่า มีความตึงเครียดและความขัดแย้งภายในทีมบริหารเกี่ยวกับการกำหนดสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก่อนหลังในระยะสั้นและระยะยาว การจะทำหน้าที่ตามบทบาทนี้ได้อย่างสมบูรณ์นั้น CFO จะต้องมีความน่าเชื่อถือและสามารถโน้มน้าวซีอีโอ (CEO) และทีมผู้บริหารระดับสูงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจไม่ถึงหนึ่งในสาม (32%) กล้าพูดอย่างตรงไปตรงมาเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และมีเพียง 30% เท่านั้นที่กล้าค้านสมาชิกในทีมผู้บริหารระดับสูงเมื่อพวกเขาไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่สำคัญ

การบริหารความเสี่ยงด้วยนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเชิงรุก

72% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พฤติกรรมและกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ของหน่วยงานสนับสนุน (Back-office) เป็นสิ่งที่ชะลอการเปลี่ยนแปลงฝ่ายการเงินให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับโลกในยุคปัจจุบัน   วราพร ให้ความเห็นว่า “ฝ่ายการเงินต้องปลูกฝังวัฒนธรรมที่ส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็ต้องยึดถือแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการความเสี่ยง สิ่งนี้จะช่วยให้ CFO วางตำแหน่งให้ฝ่ายการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในองค์กรได้”   เมื่อเป้าหมายของ CFO คือการสร้างหน่วยงานด้านการเงินที่นำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรก คือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการเงิน (37%) และการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนสูง (27%) ตลอดจนความสามารถขององค์กรที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน

การประสานบทบาทของ CFO ที่เปลี่ยนไปกับทักษะความสามารถแบบเดิมได้อย่างลงตัว

สองในสามของผู้บริหารระดับสูงด้านการเงิน (66%) ยอมรับว่าบริษัทต่าง ๆ จะแต่งตั้งผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านการเงินไม่มากนักให้มาดำรงตำแหน่ง CFO ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ให้ค่ากับการเป็นผู้นำที่เก่งเชิงกลยุทธ์และสร้างแรงบันดาลใจได้ มากกว่าการเป็นผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงอย่างเดียว  “การสนับสนุนจากฝ่ายการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงจะทำให้ CFO สามารถผสานความขัดแย้งทั้ง 3 ประการได้ และเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในวงกว้าง CFO ควรกำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกันต้องกำหนดเป้าหมายที่สามารถทำให้บรรลุผลได้ การพลิกโฉมฝ่ายการเงินได้นั้นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงาน การสร้างเสริมกรอบความคิดและพฤติกรรมใหม่ ๆ ภายในทีม นอกจากนี้ CFO ควรมุ่งเน้นที่การดำเนินงานตามกลยุทธ์และเตรียมผู้ที่จะเป็น CFO ในอนาคต การจัดลำดับความสำคัญในเรื่องเหล่านี้จะทำให้ CFO มีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับความท้าทายและทำให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อองค์กร” วราพร กล่าวปิดท้าย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ EY 2023 Global DNA of the CFO ได้ที่ https://www.ey.com/en_gl/cfo-agenda/dna-of-the-cfo-survey