วันนี้ (19 ก.ย. 62) เวลา 13.30 น. ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการแถลงข่าวการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญ ดังนี้ 1) การให้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดย นางพัชรี อาระยะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. 2) การขับเคลื่อนงานศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ โดย ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ 3) การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท โดย นายสยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นางพัชรี อาระยะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม.

นางพัชรี กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยจากพายุโพดุล ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งในช่วงที่น้ำท่วมและภายหลังจากน้ำลดแล้ว เนื่องจากที่อยู่อาศัยและสิ่งของเครื่องใช้ได้รับความเสียหาย กระทรวง พม. ขอเชิญชวนหน่วยงาน องค์กร พี่น้องคนไทยทั่วประเทศให้ความช่วยเหลือด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค หรือบริจาคเงิน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต โดยสามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคได้ที่หน่วยงานของกระทรวง พม. ในพื้นที่น้ำท่วมได้ทุกแห่ง หรือแจ้งความประสงค์ผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 หรือ Facebook fanpage “ศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม.” ทั้งนี้ กรณีเมื่อเกิดอุทกภัยหรือภัยต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อน หน่วยงานของกระทรวง พม. ในพื้นที่ที่ประสบภัยพร้อมให้บริการความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยบางหน่วยได้ทำการเปิดสำนักงานให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือผ่านหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวง พม. ในพื้นที่ได้

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ

ดร.ธัชพล กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน คนไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย และการไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ รวมทั้งความมั่นคงในที่อยู่อาศัยผ่านโครงการต่างๆ โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กระทรวง พม. ได้คำนึงถึงความพร้อมและความเหมาะสมในด้านต่างๆ ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อตอบสนองประชาชนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัย และเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นฐานเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ ให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกพื้นที่ โดยจะส่งผลดีต่อประชาชน
ให้ได้เข้าถึงข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยได้สะดวกมากและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย สำหรับการดำเนินงานการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัย มีแผนการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 บูรณาการข้อมูลและเชื่อมโยงระบบ โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) กระทรวง พม. เป็นศูนย์กลางในการวางระบบและนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยออกเผยแพร่ และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งตั้งเป้าหมายจะเปิดให้บริการประชาชนในเดือน ธันวาคม 2561 ระยะที่ 2 พัฒนาระบบและขยายโครงข่าย คือ การพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยจะประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาระบบให้เป็นระบบสากล ในภายปี 2562 และระยะที่ 3 พัฒนาเต็มรูปแบบ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบสามารถวิเคราะห์และเก็บข้อมูลในรูปแบบ Big Data ได้ภายในปี 2563

นายสยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

นายสยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศ ตามแผนงาน 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีเป้าหมายรวม 211,482 ครัวเรือน โดยแยกเป็น
ปี 2563 การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง 20,000 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบท 43,000 ครัวเรือน การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 3,115 ครัวเรือน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีชุมชนโดนไฟไหม้หรือไล่รื้อ 1,000 ครัวเรือน (รวม 67,115 ครัวเรือน) ปี 2564 การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง 30,000 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบท 40,000 ครัวเรือน การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 2,367 ครัวเรือน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีชุมชนโดนไฟไหม้หรือไล่รื้อ 1,000 ครัวเรือน (รวม 73,367 ครัวเรือน) ปี 2565 การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง 30,000 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบท 40,000 ครัวเรือน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีชุมชนโดนไฟไหม้หรือไล่รื้อ 1,000 ครัวเรือน (รวม 71,000 ครัวเรือน) รวมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 3 ปี จำนวนทั้งสิ้น 211,482 ครัวเรือน ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวนั้น มีเป้าหมายทั้งหมด 7,069 ครัวเรือน ในพื้นที่ 50 ชุมชน ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 35 ชุมชน รวม 3,271 ครัวเรือน (ก่อสร้างเสร็จแล้ว 2,184 ครัวเรือน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 689 ครัวเรือน และพื้นที่พร้อมก่อสร้าง 398 ครัวเรือน) สำหรับโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)” ของกระทรวง พม. ดำเนินงานโดย พอช.ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน และ กคช. ดำเนินการในลักษณะการเช่า-ซื้อให้แก่ประชาชนทั่วไป ประมาณ 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยได้ให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงนั่น พอช. ไม่ได้สร้างบ้านให้ชาวบ้าน แต่ให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการเอง โดย พอช. จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านงบประมาณและสินเชื่อ รวมทั้งการให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นการพัฒนาแนวใหม่ เปลี่ยนจากเดิมที่รัฐทำให้ เป็นการสนับสนุนให้ชาวบ้านหรือผู้ที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมนี้ พอช. และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในประเทศไทย และ 10 ประเทศอาเซียน จะร่วมกันจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) โดยในปี 2562 นี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 และตลอดทั้งเดือน ภายใต้แนวคิด “Collective Housing” ซึ่งเป็นการตอกย้ำการสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี