รัฐมนตรีว่าการเป็นประธานมอบรางวัลองค์กรจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น “โครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เพื่อมอบหนังสือให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” เน้นย้ำ อปท. ต้องร่วมรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 เวลา 10:00 น.

กระทรวงมหาดไทย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลองค์กรจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น “โครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เพื่อมอบหนังสือให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และคณะทำงานโครงการมือเก่าไป ชีวิตใหม่มา ร่วมมือกันดำเนินการ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ท้องถิ่นจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล อปท. ให้ขับเคลื่อนด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกับบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และภาคีเครือข่ายจัด “โครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เพื่อมอบหนังสือให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” เพื่อให้มีการรณรงค์ให้ช่วยกันกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และได้มาตรฐานสากล ผ่านการขอรับบริจาคจาก อปท. ทั่วประเทศ รวม 7,285 แห่ง และนำรายได้จากการรีไซเคิลไปจัดหาหนังสือสำหรับเด็กและสื่อเพื่อการศึกษาอื่น ๆ มอบให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ที่ขาดแคลนในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 2,000 แห่ง มูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่งเด็ก ๆ จะได้รับประโยชน์จากหนังสือและสื่อการศึกษา อันเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังการรักการอ่านในวัยเด็กส่งผลให้เกิดการยกระดับทางด้านทักษะการอ่านและการเรียนรู้ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการรณรงค์และมีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ เป็นการมอบรางวัลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการและรวบรวมโทรศัพท์มือถือเก่าที่เสียแล้วไม่ใช้แล้วจากประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ รวม 1,000 แห่ง แบ่งประเภทรางวัลเป็น 3 ประเภท คือ 1. หน่วยงานที่รับบริจาคมือถือเก่าได้จำนวน 500 เครื่องขึ้นไป 2. หน่วยงานที่รับบริจาคมือถือเก่าได้จำนวน 200 เครื่องขึ้นไป และ 3. หน่วยงานที่รับบริจาคมือถือเก่าได้จำนวน 50 เครื่องขึ้นไป

กระทรวงมหาดไทย(มท.)

 

กระทรวงมหาดไทย(มท.)

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและผู้บริหาร อปท. โดยกล่าวว่า “ปัญหาขยะ” เป็นปัญหาสำคัญและสะสมมาอย่างยาวนาน ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยมอบกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปขับเคลื่อนให้เกิดผล ซึ่งประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากและรอการกำจัดกว่า 5 แสนตัน หากกำจัดผิดวิธีจะส่งผลต่อลูกหลานในอนาคต

กระทรวงมหาดไทย(มท.)

 

กระทรวงมหาดไทย(มท.)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 27.06 ล้านตันต่อปี และมีขยะตกค้าง 10 ล้านตันต่อปี โดยมีอัตราการผลิตขยะเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดขยะมากกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาทแต่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาททำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้งบประมาณเพื่อการจัดการขยะมูลฝอยไปไม่น้อยกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงต้องร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น/หมู่บ้าน/ชุมชน โดยซักซ้อมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ “ครัวเรือน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการขยะ เพราะจะทำให้ลดปริมาณขยะได้อย่างมากตั้งแต่แหล่งกำเนิด ตามกระบวนการ 3Rs หรือ 3ช คือ Reuse (ใช้น้อย) Reduce (ใช้ซ้ำ) Recycle (ใช้ใหม่)

กระทรวงมหาดไทย(มท.)

 

กระทรวงมหาดไทย(มท.)

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือน โดยได้กำหนดสี 4 สี คือ 1) สีฟ้า/สีน้ำเงิน คือ ขยะทั่วไป 2) สีเขียว คือ ขยะย่อยสลายได้ 3) สีเหลือง คือ ขยะรีไซเคิล 4) สีแดง คือ ขยะอันตราย/ขยะพิษชุมชน โดยในระยะแรกให้ประชาชนใช้ถุงดำและติดสัญลักษณ์ที่บอกประเภทขยะซึ่ง อปท. อาจจัดทำสติ๊กเกอร์แยกสีตามประเภทขยะแจกจ่ายประชาชน และสำหรับในที่สาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวจะมีการจัดการขยะ 2 ประเภท คือ ถังขยะรีไซเคิลและถังขยะทั่วไป/ขยะอินทรีย์ ซึ่ง อปท. ทั่วประเทศจะต้องดำเนินการ รณรงค์สร้างการรับรู้และความเข้าใจในการคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ หมู่บ้านปลอดขยะ (Zero Waste)
ขั้นตอนของการจัดการขยะกลางทางหรือการเก็บขนขยะมูลฝอย ซึ่งยังมีข้อจำกัดเรื่องยานพาหนะเก็บขนขยะ จึงขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการขยะโดยกำหนดวัน เวลา ในการเก็บขนขยะแต่ละประเภทที่เหมาะสมกับปริมาณขยะและลักษณะของชุมชน และในด้านการจัดการขยะปลายทาง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดวิธีการกำจัดขยะ ได้แก่ การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การหมักทำปุ๋ยหรือก๊าซชีวภาพ การกำจัดด้วยพลังงานความร้อน (เผาในเตาเผาที่มีการควบคุมมลพิษ) และการแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงาน ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการรวมกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการขยะกว่า 2,810 กองขยะ ในลักษณะ Clusters ทั่วประเทศ 324 กลุ่ม ซึ่งหาก อปท. สามารถดำเนินการแปรสภาพขยะเป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงาน จะทำให้ขยะหมดไปจากประเทศไทย และจะทำให้เกิดพลังงานแก่ประเทศอันจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยอีกด้วย จึงขอให้ อปท. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดการขยะ ไม่ได้ส่งเสริมในด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนส่งเสริมด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จึงต้องร่วมรณรงค์ให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะเพื่อให้ประเทศไทยดีขึ้น และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน