นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีเปิดงานและร่วมงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การจัดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกในปีนี้มีความพิเศษมากๆ ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน

ประการแรก เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ CITES ซึ่งมีการลงนามรับรองครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ประการที่สอง เป็นโอกาสครบรอบ 40 ปี ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันการเข้าร่วมเป็นภาคี CITES ในปีพ.ศ. 2526

ประการต่อมา ปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ที่ประเทศไทยได้มีการจัดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่ความหลากหลายในความสวยงามของธรรมชาติ

กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดงานงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ฉลองครบรอบ 50 ปี อนุสัญญาฯ ไซเตส  และ 40 ปี แห่งการเป็นภาคีอนุสัญญา CITES ของประเทศไทยในช่วง 40 ปีที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา CITES ได้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องรองรับข้อกำหนดตามอนุสัญญา เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งด่านตรวจสัตว์ป่าเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าส่งออกสัตว์ป่า ต่อมา ใน พ.ศ. 2558 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายนี้เพื่อรองรับการบรรจุช้างแอฟริกา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าต่างประเทศชนิดแรกที่กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และการออกกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติงาช้าง เพื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหางาช้างที่ผิดกฎหมายที่เกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างประเทศ และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฉบับที่มีผลบังคับในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสัตว์ในบัญชี CITES ภายในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งเครือข่ายระดับอาเซียน หรือ ASEAN-WEN ซึ่งได้จัดตั้งมาตั้งแต่ ปี 2548 ซึ่งนำมาสู่การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าระหว่างประเทศ ซึ่งใน พ.ศ. 2550 ประเทศไทยเองก็ใช้กลไลเครือข่ายลักษณะเดียวกันในระดับประเทศ คือ THAILAND WEN ที่ได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรที่สำคัญ เช่น ตำรวจ ศุลกากร หน่วยงานศาล หน่วยงานด้านการขนส่งต่างๆ ร่วมเป็นกำลังสำคัญเพื่อต่อสู้กับปัญหาการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฏหมาย และที่สำคัญ คือ ประเทศไทยได้ผลักดัน ให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day” เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม CITES CoP16 เมื่อปี พ.ศ. 2556
และต่อมาที่ประชุมสหประชาชาติ หรือ UN ได้ให้การรับรองในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 68

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่เพียงแต่ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบข้อกำหนดตามกฎหมายของประเทศไทย แต่ยังมุ่งหวังการยกระดับมาตรฐานการทำงานให้สอดคล้องในระดับสากลในมิติต่าง ๆ ในฐานะภาคีสมาชิกของ CITES ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้คำมั่นและเน้นย้ำว่าเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเราแสวงหากลุ่มพันธมิตรจากทุกภาคส่วน และต้องขอกล่าวคำขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มพันธมิตรที่ให้ความร่วมมือดำเนินงานร่วมกันมาอย่างใกล้ชิด