กรุงเทพฯ ประเทศไทย – บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ตอกย้ำความเป็นผู้นำของทั้งสององค์กรที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดสินเชื่อพร้อมสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan and ESG Linked Interest Rate Swap) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย โดย AWC มีความเชื่อมั่นในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับพันธมิตรเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งจะมุ่งเน้นโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้หลัก ESG ตามพันธกิจ “Building a Better Future” ขององค์กร อีกทั้งความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมศักยภาพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธุรกิจการเงินหลักของ กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ และในฐานะสถาบันการเงินสำคัญของประเทศ ธนาคารตระหนักถึงบทบาทในการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์ในการเป็น “ธนาคารที่ดียิ่งขึ้น” (To be a Better Bank) เรามุ่งเน้นพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับความไว้วางใจจาก AWC ร่วมสร้างความสำเร็จในการมอบสินเชื่อ Sustainability Linked Loan พร้อมด้วย ESG Linked Interest Rate Swap มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยที่ได้รับสินเชื่อดังกล่าว ผมขอชื่นชมวิสัยทัศน์ผู้บริหาร AWC ทั้งทางด้านธุรกิจเห็นได้จากโครงการที่ประสบความสำเร็จ และกำลังพัฒนามากมายหลายโครงการ รวมถึงความสามารถในการดำเนินการผ่านสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างแข็งแกร่ง และทางด้านความยั่งยืนที่ได้รับรางวัลจากเวทีระดับโลก ธนาคารมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ AWC ในฐานะผู้นำอสังหาริมทรัพย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย ผมหวังว่ากลุ่มเอสซีบี เอกซ์ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จะได้มีโอกาสทำงานร่วมกันกับ AWC ในโครงการต่อไปในอนาคต โดยการเป็นธนาคารที่ดียิ่งขึ้นเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยสู่การเป็นสังคมที่ดีขึ้นได้สำเร็จตามพันธกิจ Building a Better Future ของ AWC”
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “ พันธกิจการดำเนินธุรกิจของ AWC คือการร่วม “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” หรือ “Building a Better Future” เป็นการนำหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาผสานในทุกภาคส่วนและทุกมิติของการดำเนินงานในองค์กร เพื่อสร้างคุณค่าองค์รวมอย่างแท้จริงให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งที่ผ่านมา AWC ได้มุ่งมั่นดำเนินงานตามหลักความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมให้เกิดเมืองและชุมชนที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจโรงแรม ได้แก่ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล เป็นโรงแรมแห่งแรกของโลกที่ได้รับรางวัล ISO 20121 มาตรฐานด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน และโรงแรมบันยันทรี สมุย ที่ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งช่วยเคลื่อนย้ายไข่เต่าตนุ พร้อมสร้างเขตอนุบาลเพื่อป้องกันไข่จากผู้ล่าก่อนฟักตัว เป็นต้น เรามีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากธนาคารไทยพาณิชย์ อนุมัติวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะยาวและอนุพันธ์ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งการนำผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ขององค์กรมาเป็นส่วนสำคัญในกลไกการจัดสินเชื่อยั่งยืนนี้ เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของ AWC ให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ (Building A Better Future For Sustainable Real Estate And Sustainable Tourism)”
AWC นับเป็นบริษัทแรกในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยที่ได้รับสินเชื่อหมุนเวียนระยะยาวและอนุพันธ์ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Sustainability Linked Loan and ESG Linked Interest Rate Swap) ซึ่งตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets หรือ SPTs) แบ่งเป็นการบรรลุเป้าหมายผลดัชนีความยั่งยืน MSCI ESG Rating และการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ AWC ได้กำหนดแผนกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อ “สร้างคุณค่าด้านความยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” ผ่านกรอบการดำเนินงาน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (BETTER PLANET) การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น ก่อตั้งร้าน reConcept ภายใต้แนวคิดการรีไซเคิล การดําเนินโครงการพลังงานทดแทนและโครงการประหยัดพลังงานที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารในกลุ่มธุรกิจโรงแรม 2) คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (BETTER PEOPLE) การพัฒนาบุคคลากร อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการบูรณาการทางสังคมและชุมชน เช่น การพัฒนาโครงการ “The GALLERY” ภายใต้รูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ AWC ดำเนินธุรกิจ และ 3) เศรษฐกิจที่ดีขึ้น (BETTER PROSPERITY) การผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในวงกว้าง เพื่อนำพาประโยชน์สู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างยั่งยืน
“AWC มีความยินดีที่ SCB ให้การสนับสนุนและเชื่อมั่นในศักยภาพ AWC มาอย่างต่อเนื่องและพร้อมร่วมสร้างคุณค่าในระยะยาวไปด้วยกัน ซึ่งการได้รับวงเงินสินเชื่อในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการจุดประกายให้กับพันธมิตรทางธุรกิจขององค์กรมาร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนไปด้วยกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นางวัลลภากล่าวเสริม ด้วยความมุ่งมั่นและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้หลัก ESG ส่งผลให้ AWC ได้การยอมรับจากองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา AWC ได้รับการประเมินจาก MSCI ESG Rating ในระดับ “AA” การได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนของ S&P (จากรายงาน The Sustainability Yearbook 2022) ของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม รีสอร์ท และเรือสำราญ รวมถึงการได้รับการจัดอันดับรายงานการกำกับดูแลกิจการ ในระดับ “ดีเลิศ” (Excellence CG Scoring) และได้รับการรับรองให้เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)