กระทรวงศึกษาธิการ ( 24 กุมภาพันธ์ 2565) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลงานของหน่วยงานในกำกับ ในรอบ 6 เดือน โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในกำกับ อาทิ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งทีมที่ปรึกษา รมช. นายณรงค์ ดูดิง นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย เข้าร่วมประชุมด้วย พร้อมผู้บริหารทุกหน่วยงานในกำกับ โดยชูอัจฉริยะเกษตรประณีต ใช้โค้ดดิ้งผนวกกับวิทยาศาสตร์ สร้าง Smart Intensive Farming ช่วยพัฒนาศก.ประเทศ เชื่อมั่นการศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใน OECD ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานหนัก ย้ำให้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต่อเนื่อง

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการภายใต้การกำกับดูแลของตนเองได้วางรากฐานการศึกษาไทยเพื่อไปสู่ศตวรรษที่ 21 หรือยุคดิจิทัลด้วย Coding และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ STI (Science/Technology/Innovation) นับเป็นการปฏิรูปไปถึงตัวเด็กโดยตรง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกในอนาคต  คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ทุกนโยบายที่หน่วยงานในกำกับได้ขับเคลื่อน มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีความรู้ ความสามารถไม่แพ้เด็กชาติในโลก และกระทรวงศึกษาธิการก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มสมรรถนะนักเรียนให้มีมาตรฐานสากล อาทิ การเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการสอบประเมิน PISA

คุณหญิงกัลยา แถลงผลงานในรอบ 6 เดือน ชูอัจฉริยะเกษตรประณีต ใช้โค้ดดิ้งบวกวิทยาศาสตร์ สร้าง Smart Intensive Farming ช่วยพัฒนาศก.ประเทศ เชื่อมั่นการศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใน OECD

การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมในโครงการวิทยาศาสตร์พลัง 10 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 1 หมื่นล้านบาท  นอกจากนี้ยังได้นำ Coding และวิทยาศาสตร์ ไปประยุกต์ใช้กับการเกษตรจนประสบความสำเร็จ ในโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน โดยขณะนี้ทาง สพฐ.ได้ดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดการยกระดับองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 600 โรงเรียนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเมื่อโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตสามารถขยายประโยชน์ไปสู่ชุมชน เกิดการสร้าง Smart Intensive Farming แล้วจะช่วยพัฒนาและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“กว่า 3  ปี ที่ดิฉันได้เข้ามาก็ได้วางรากฐานการศึกษาไทยด้วย Coding และ STI ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยจะไม่แพ้ชาติใดในโลก คะแนน PISA ของเราจะสูงขึ้น การศึกษาไทยจะไม่ด้อยไปกว่าประเทศใน OECD ซึ่ง Coding และ STI จะเป็นรากฐานสำคัญในการเชื่อมต่อกับทุกองค์ความรู้ไม่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แต่รวมไปถึงด้านการเกษตรซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว  ส่วนประเด็นเรื่องการจัดหา Smart Devices เพื่อรองรับการเรียนการสอนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ก็ได้มีความคืบหน้า โดยคาดว่าก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ จะสามารถจัดหา Smart Devices ให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเครื่อง และเตรียมที่จะจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ต่อไปสำหรับปีงบประมาณ 2566-2570

นอกจากนี้ คุณหญิงกัลยา ยังได้แสดงความยินดีกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลองค์การมหาชนดีเด่น แม้ปีที่ผ่านมาจะบริหารงานท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ทำผลงานได้ดีเยี่ยมจนได้รับการเสนอชื่อดังกล่าว “สำหรับผลการดำเนินงานของหน่วยงานในกำกับถือว่ามีความคืบหน้า ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน และทุกคนที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย จึงอยากให้ทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายให้มีความต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้” คุณหญิงกัลยา กล่าว