สตาร์ทอัพธุรกิจท่องเที่ยว “มาคาเลียส” (Makalius) แหล่งรวมอี–วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยประเทศไทยแม้เจอวิกฤตโควิด–19 หนักอย่างไร แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไงก็ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการต้องรู้วิธีการรับมือในยุค Next Normal เพราะไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป สงครามราคาไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด คุณภาพ ความปลอดภัย เทคโนโลยี ทักษะ และการผนึกกำลังแบบบูรณาการ คือรูปแบบการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) กล่าวว่า “วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่รุ่นแรงที่สุดในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยและทั่วโลกได้พบเจอ ส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอย่างมหาศาลกับธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย แต่ทั้งนี้จากประสบการณ์การบริหารงานของบริษัทแม่ในโซนยุโรปประกอบกับการดำเนินงานในประเทศไทยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเมินว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติได้เหมือนทุกครั้งที่เคยเกิดวิกฤตต่างๆ เพราะประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่เป็นแม็กเน็ตสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย อาทิ วัฒนธรรมประเพณี ความงดงามของธรรมชาติ อาหารการกิน ค่าใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยว เป็นต้น แต่สิ่งที่จะตามมาภายหลังจากพายุโควิด-19 สงบลง คือการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ยุค “Next Normal” หรือยุค “การเปลี่ยนแปลง” เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องปรับตัวตาม
ดังนั้นการเรียนรู้วิธีการรับมือให้เร็วคือทางรอดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมาคาเลียสมองว่า 5 แนวทางที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมและสร้างระบบการท่องเที่ยวยุค Next Normal ได้นั้น คือ “คุณภาพและประสบการณ์” (Quality & Experience) ของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพิจารณาเป็นอันดับแรกมากกว่าเรื่องของราคา เพราะการออกไปท่องเที่ยวในแต่ละครั้งนักท่องเที่ยวจะคิดเยอะขึ้น ดูความสมเหตุสมผลระหว่างราคากับคุณภาพ และที่สำคัญในแต่ละทริปต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างคุณภาพของบริการที่จับต้องได้มากกว่าการทำโปรโมชั่น ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนการจำหน่ายแพคเกจแบบการลดราคา เป็นการเพิ่มกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างความสนุกให้กับทริปท่องเที่ยว เป็นต้น แนวทางต่อมาคือ “ความปลอดภัย” (Hygiene) ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวในยุค Next Normal ทั้งความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของห้องพัก รวมถึงการให้บริการที่เน้นแบบไร้สัมผัส (Contactless Services) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น e-Voucher เปลี่ยนจากกระดาษเป็นออนไลน์ e-Concierge เปลี่ยนจากการเช็คอินที่เคาเตอร์เป็นการให้บริการเช็คอินที่ห้องพัก เพื่อลดการแออัดบริเวณพื้นที่ส่วนรวม และ Digital payment การชำระเงินด้วยรูปแบบการโอนจ่าย หรือการจ่ายผ่านเหรียญคริปโต (Crypto Currency) ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นบริการใหม่ของทางมาคาเลียสที่ได้เปิดใช้งานแล้วและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“เทคโนโลยี” (Tech) ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการยกระดับคุณภาพของงานบริการ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการหลายแห่งนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการ เช่น การใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน สำหรับการเช็คอิน การเช็คเอาท์ การสอบถามข้อมูล รวมไปถึงการให้บริการ Room Service แทนการใช้โทรศัพท์ในห้องพัก เพิ่มความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะสามารถใช้บริการได้ทุกที่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการติดตามนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย และที่ขาดไม่ได้คือ “ทักษะ” (Skill) เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริการมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบบริการเปลี่ยนไป บางสายงานอาจถูกลดจำนวนลง ดังนั้น บุคลากรควรมีการ Upskill คือการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การเพิ่มทักษะภาษาจีนจากเดิมที่มีทักษะภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น และ Reskill การเปลี่ยนองค์ความรู้เดิมเพื่อรับมือกับสายอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น เดิมเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศรับจองห้องพัก แต่เมื่อ Ai เข้ามาทำงานแทน เราอาจผันตัวเองมาเรียนเป็นผู้สอน SUP Board เพราะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางน้ำที่กำลังได้รับความนิยม และเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ เป็นต้น
นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “แนวทางสุดท้ายที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยนำพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุค Next Normal คือ “บูรณาการ” (Integration) เพราะการทำงานเพียงลำพังคนเดียวอาจไม่ใช้ทางออกที่ดีที่สุดของการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องร่วมมือและผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมไปถึงกลุ่มชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยควรจะเป็น รวมถึงการร่วมมือกันกำหนดแนวทางการแก้ไข ดูแล และป้องกัน หากเกิดวิกฤตต่างๆ ขึ้นอีกครั้ง”
Post Views: 365