ททท. เผยความสำเร็จโครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์อย่างงดงาม หลังนำร่องเส้นทางท่องเที่ยวคุณภาพสูงในภูมิภาคภาคกลางเส้นทางแรก ด้วยเส้นทาง “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของทวารวดี” สัมผัสรากเหง้าก่อนประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม มุ่งจุดประกายต่อยอดสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย โดยดำเนินการเส้นทางแรก ภายใต้ชื่อ “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของทวารวดี” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีที่ตั้งเก่าแก่ของเมืองในสมัยทวารวดี โดยมุ่งหวังว่าในแต่ละเส้นทางประวัติศาสตร์ของโครงการจะสามารถต่อยอดไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอารยะอื่น ๆ ได้ในอนาคต อีกทั้งส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชน อาหาร ตลาดการค้าท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้ และขับเคลื่อน Amazing Experience ตามแนวคิด Happy Model ต่อไป กิจกรรมท่องเที่ยวในวันแรกมุ่งหน้าสู่จังหวัดราชบุรี เพื่อเรียนรู้ “แหล่งโบราณสถานเมืองคูบัว” เมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยทวารวดี ชม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี” และการทดลองใช้กล้องโฮโลเลนส์ หนึ่งในนวัตกรรมจากทีมนักวิจัยสู่การจำลองภาพเสมือนจริง 3 มิติ โดยคาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ต้นแบบในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการนำเสนอ ต่อด้วยเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” ชมความสวยงามของตู้สาแหรกจีนเก่าแก่อายุนับร้อยปี พลาดไม่ได้กับการชมแหล่งท่องเที่ยว Unseen “ซุ้มประตูบ้านเศรษฐีเก่าชาวจีนที่วัดช่องลม” ปิดท้ายชวนสัมผัสบรรยากาศงานแสดงไฟสุดอลังการ ณ “ณ สัทธา อุทยานไทย” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมแต่งไทยย้อนยุคถ่ายรูปสุดประทับใจ
สำหรับการเดินทางในวันที่ 2 พาไปสัมผัสประวัติศาสตร์เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชมแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเหล็ก “พิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชร” ชุมชนโบราณที่ในอดีตมีการติดต่อทางทะเลกับทั้งอินเดียและทางตะวันออกนานกว่า 2,500 ปี ตื่นตาตื่นใจไปกับการจัดแสดงเรื่องราวเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดีอย่างทันสมัยที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง” พร้อมแวะชมโบราณสถานใต้ดินที่ “วิหารถ้ำ” สุด Unseen ณ แหล่งโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ชมความมหัศจรรย์ของ “พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” ประติมากรรมพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน วันสุดท้ายแวะเยี่ยมชม “ชุมชนบ้านต้นแจงพัฒนา” ร่วมกิจกรรมทำยาดมหัวตุ๊กตาหน้าทวารวดี ผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยนำอัตลักษณ์ของเมืองโบราณอู่ทองมาสร้างงานศิลปะ ปิดท้ายทริปที่จังหวัดนครปฐม หนึ่งในจังหวัดของภาคกลางที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนานไม่แพ้กัน แวะสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์ และชม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” เรียนรู้ประวัติศาสตร์ขององค์พระปฐมเจดีย์ และชมพระประโทณเจดีย์ที่เชื่อว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองโบราณในอดีต
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า
ที่ผ่านมาเราเคยได้รับรู้ว่าประวัติศาสตร์ของไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ความจริงแล้วประวัติศาสตร์ไทยไปลึกกว่านั้นเป็นพัน ๆ ปี ดังเช่นทริปที่พวกเราได้มาตามรอยประวัติศาสตร์ทวารวดีผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ทวารวดี” ในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ของ 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม ได้ย้อนเวลาไปกว่าพันปีเศษ เรียนรู้ความเป็นมาของดินแดนในเขตนี้ว่ามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างไร ได้เห็นพื้นฐานของไทยตลอดจนการเติบโตของยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่กระทรวง อว. โดย สำนักบริหารวิทยสถาน สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) กำลังดำเนินการอยู่คือการเติมเต็มองค์ความรู้ทางวิชาการ สนับสนุนเทคโนโลยีและวิทยาการ รวมทั้งนักวิชาการที่ดีที่สุดทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของไทย มีความภาคภูมิใจในอดีตต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่ความหวังของประเทศในอนาคต “สิ่งสำคัญในช่วง 3 วันที่ผ่านมา คือ เราได้เห็นรูปธรรมของ 3 ประสานที่สำคัญได้แก่ กระทรวง อว. ททท. และหอการค้าไทย โดยที่ กระทรวง อว. มีองค์ความรู้ทางวิชาการอยู่เยอะมาก แต่เงื่อนไขคือจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากองค์ความรู้ทางวิชาการได้อย่างไร โดยมุ่งหวังว่าวิชาการจะไม่เพียงเพื่อวิชาการเท่านั้น แต่จะต้องเป็นวิชาการเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย และหนึ่งในสิ่งที่ทาง ททท. มีความชำนาญเป็นอย่างมากก็คือความสามารถในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว นำข้อมูลมาต่อร้อยเรื่องราวเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงองค์ประกอบที่สำคัญ คือหอการค้าไทย และผู้ประกอบการในพื้นที่ จะต้องได้รับประโยชน์จากกิจกรรมในครั้งนี้ และทำหน้าที่ต่อยอดสร้างความยั่งยืนต่อไป ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกมาก” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
ขณะที่ นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือการขับเคลื่อนโครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องตามหมุดหมายการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดรับกับ HAPPY MODEL (โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข) ภายใต้นโยบาย Connect the Dots ของหอการค้าไทย โดยผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายภาคส่วนที่มุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนด้วยเป้าหมายการนำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของไทย ประกอบด้วยหน่วยงานอันสำคัญ ได้แก่
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง พร้อมด้วยทีมกองตลาดภาคกลางและทีมสำนักงาน ททท. ทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานราชบุรี สำนักงานกาญจนบุรี และสำนักงานสุพรรณบุรี
- หอการค้าไทย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย ทีมงานหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และ YEC หอการค้าทุกจังหวัด
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา และนางสาวสิริธรรม ณ ระนอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิทยสถาน สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา)
- และวิทยากรจากมหาวิทยาศิลปากร นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และทีมอาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร