ททท. ต่อยอดความสำเร็จ “โครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์” อย่างต่อเนื่อง รุกนำร่องสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เชิงลึกอันล้ำค่า ด้วยกิจกรรมเส้นทางประวัติศาสตร์ “วิถีชาวน้ำแห่งอยุธยา” จุดประกายคุณค่าประวัติศาสตร์ไทยผ่านเส้นทางแห่งสายน้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งเป้าให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประวัติศาสตร์คุณภาพสูงในอนาคต และนำสู่การขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นครั้งสำคัญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง โดยผนึกความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหอการค้าไทย ซึ่งกิจกรรมเส้นทางประวัติศาสตร์เส้นทางอยุธยาในครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นการนำร่องเส้นทางคุณภาพครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร่วมเดินทางล้วนได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งจากการไปเรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญในสมัยอยุธยา ทั้งนี้ ททท. มุ่งผลักดันให้กิจกรรมดังกล่าวสามารถตอบสนองการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมสอดคล้องตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงช่วยส่งเสริมวิถีชุมชน ตลาดการค้าท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และก่อเกิดรายได้สู่ชุมชนต่อไป

 

ททท. หนุนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รุกสร้างสรรค์กิจกรรมเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง

สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวพาย้อนรอยประวัติศาสตร์ผ่านเส้นทางแห่งสายน้ำ เปิดประสบการณ์ล้ำค่าที่ยากจะลืมเลือน เริ่มต้นการเดินทางในวันแรก พาล่องเรือสัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก แวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ “วัดพิชัยสงคราม” วัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ จากนั้นล่องเรือต่อไปยัง “วัดใหม่ชุมพล” แวะขอพรหลวงพ่อทรงธรรมหรือหลวงพ่อในตึก พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย เพื่อความเป็นสิริมงคล ชมความงดงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังและเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะอยุธยาที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อด้วยชมปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอยุธยา ณ “ปราสาทนครหลวง” ที่ผสมผสานศิลปะไทยและขอมได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปลพบุรีและไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี แวะชมโบราณวัตถุที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” สร้างขึ้นโดยกรมศิลปากร เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ รวมถึงที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสัมผัส “ป้อมเพชร” หนึ่งโบราณสถานที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในสมัยอยุธยา ป้อมปราการที่ป้องกันศัตรูผู้รุกราน และถือได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ในบรรดา 29 ป้อม เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก พร้อมผ่อนคลายเบา ๆ ด้วยการนั่งฟังดนตรีไทยที่ร้อยเรียงจากอดีตถึงปัจจุบัน ลิ้มชิมรสเมนูอาหารไทยโบราณที่หารับประทานได้ยาก ทั้งหมูโสร่ง ล่าเตียง ขนมสอดไส้ประยุกต์

วันที่ 2 เริ่มที่ “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” แหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่า สถานที่จัดแสดงนิทรรศการงานฝีมือช่างของสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา และผลงานศิลปหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตระการตาไปกับการแสดงงานฝีมือ อาทิ เครื่องเงิน เครื่องทอง ลงยาสี หมู่เรือพระที่นั่งจำลองจากขบวนเรือพระราชพิธี ทั้งยังมีฉากถมทองขนาดใหญ่เรื่อง “รามเกียรติ์” ในรูปแบบ 3 มิติ ฉากแสดงงานปักเส้นไหมด้วยวิธีโบราณ และอีกหลากหลายผลงานที่สวยงามเกินบรรยาย ต่อด้วยแวะชม ชอปที่ “เซ็นทรัล อยุธยา” แลนด์มาร์กใหม่ของอยุธยา ศูนย์การค้าที่ออกแบบด้วยแนวคิด ‘อัศจรรย์อยุธยา’ (Capital of Wonders) นำความเรืองรองของอยุธยาในฐานะเมืองมรดกโลก และความภูมิใจของคนไทยสู่สายตาระดับโลก พร้อม Cultural Space ไว้สำหรับศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาในรูปแบบของ Interactive Museum และมุ่งส่งเสริมชุมชนด้วยการมี ‘ตลาดจริงใจ’แหล่งรวมของดี OTOP จากชุมชนกว่า 16 อำเภอไว้ในที่เดียว ปิดท้ายเข้าชม “หมู่บ้านญี่ปุ่น” แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติที่เดินทางมาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ปัจจุบันได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น ‘พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น’ โดยสมาคมไทย – ญี่ปุ่น ร่วมมือกับนักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เพื่อรำลึกถึงชาวญี่ปุ่นผู้มีความจงรักภักดีต่อราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเป็นอนุสรณ์แห่งหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิม ทั้งนี้นักท่องเที่ยว ผู้เข้าชมสามารถเช่าชุดยูกาตะและชุดกิโมโนเพื่อเก็บภาพสวย ๆ ได้ด้วย

ททท. หนุนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รุกสร้างสรรค์กิจกรรมเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง

โดยผลความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมเส้นทางดังกล่าวได้รับการประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างเต็มกำลังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกัน อันประกอบไปด้วยหน่วยงานสำคัญ ได้แก่

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง นายวิศณุ อรุณบำรุงวงศ์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง นางสาวสุรีพร พงษ์พานิช ผู้อำนวยการกองตลาดภาคกลาง นายณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยทีมกองตลาดภาคกลางและทีมสำนักงานพระนครศรีอยุธยา

หอการค้าไทย นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ทีมงานหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และ ทีม YEC

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองศาตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา นางสาวสิริธรรม ณ ระนอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิทยสถาน สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และคณะทำงานจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

และวิทยากร รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล