เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย เปิดตัว “โครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์” ต้อนรับศักราชใหม่ด้วยกิจกรรมเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูงในพื้นที่ภูมิภาคภาคกลาง ปฐมฤกษ์ด้วย 3 เส้นทาง 3 ยุคสมัย ได้แก่ เส้นทางทวารวดี เส้นทางอยุธยา และเส้นทางละโว้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนด้วย Amazing Experience พร้อมเปิดเส้นทางนำร่องเส้นทางแรก ภายใต้ชื่อ “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของทวารวดี” มุ่งหน้าสู่จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม ระหว่างวันที่ 19 – 21 มกราคม 2566
นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานในพิธีเปิดงานแถลงข่าวโครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย ได้มีแนวทางร่วมกันในการพัฒนาชุดข้อมูลประวัติศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวศักยภาพอันเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย นอกจากเป็นการถ่ายทอดทางวิชาการแล้ว ยังนำไปสู่การออกแบบเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูงในพื้นที่ภูมิภาคภาคกลาง เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการท่องเที่ยวที่เน้นการสร้างรายได้สู่ชุมชม รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้คงอยู่สืบไป โดยดำเนินการจัดทำ 3 เส้นทางนำร่องที่สอดแทรกธีมในแต่ละเส้นทาง เพื่อสร้างประสบการณ์เดินทางอันล้ำค่าและน่าจดจำ และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่สนใจรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เปิดเส้นทางแรกกับเส้นทางทวารวดี “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของทวารวดี” ภายใต้ธีมเห็นรากเหง้าก่อนประวัติศาสตร์และมุมประวัติศาสตร์กับหลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อมโยงตั้งแต่อู่ทองถึงสุวรรณภูมิ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม เส้นทางที่ 2 เส้นทางอยุธยา “ย้อนรอยประวัติศาสตร์ผ่านเส้นทางแห่งสายน้ำ” ภายใต้ธีมวิถีชีวิตริมน้ำ ในพื้นที่จังหวัดอยุธยา และเส้นทางที่ 3 เส้นทางละโว้ “ย้อนเวลาสู่เมืองละโว้” ภายใต้ธีมวัฒนธรรมและความเชื่อ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี
ทั้งนี้ ททท. มุ่งหวังว่ากิจกรรมเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูงซึ่งได้รับความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานที่จะเกิดขึ้น จะนำไปสู่การต่อยอดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ไปยังแหล่งท่องเที่ยวอารยะอื่นๆ ได้ในอนาคต เช่น อารยธรรมตามพรลิงค์ อารยธรรมโคตรบูร อารยธรรมล้านนา และอารยธรรมศรีวิชัย เป็นต้น อีกทั้งช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชน อาหาร การแต่งกาย สถาปัตยกรรม เทศกาลงานประเพณี ตลาดการค้าท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงและเข้มแข็งสำหรับการท่องเที่ยวของประเทศไทย และนำไปสู่การขับเคลื่อน Amazing Experience ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมสินค้ากลุ่ม BCG ตามแนวคิด Happy Model ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไป
ด้าน ดร. ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงบทบาทหลักของกระทรวงฯ ในการสร้างและพัฒนากำลังคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และสร้างพลังขับเคลื่อนประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่และชุมชนผ่านมหาวิทยาลัยที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และอาศัยกลไกของ “วิทยสถาน สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา” ขับเคลื่อนการวิจัย วิชาการและการพัฒนาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของประเทศ แบบสหวิทยาการ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยี LiDAR ในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีโบราณสถานหรือแหล่งประวัติศาสตร์ การประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำแหล่งข้อมูลทางวิชาการเพื่อเสริมใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปิดเส้นทางใหม่ ๆ สร้าง Story telling ที่อิงข้อมูลประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ โดยในปีนี้ได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเส้นทางประวัติศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูงนำร่องภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ทำให้พื้นที่เข็มแข็งและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของหอการค้าไทยที่มีสมาชิกกระจายตัวอยู่ทั่วทุกจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค จะสามารถอำนวยการและประสานการดำเนินงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC ที่มีทั้งความพร้อมและมีไฟในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่อย่างสูงสุด ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบาย Connect the Dots ที่มุ่งเน้นให้หอการค้าไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคาดว่ากิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว ยังช่วยสร้างรายได้และสร้างการจ้างงานให้เกิดขึ้น ในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี