กรุงเทพฯ – เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ “STT GDC Thailand” ผู้นำด้านการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล ประกาศความร่วมมือกับ บีเคนิกซ์ (BKNIX) ผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Exchange Point: IXP) ที่เป็นกลางแห่งแรกในประเทศไทย ตั้ง ‘STT Bangkok 1’ เป็นจุดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Point of Presence: PoP) ยกระดับโครงข่ายพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการสื่อสารทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ
ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิทีเอชนิค ผู้ได้รับรางวัลทรงเกียรติด้านการเป็น ผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตฮอล์ลออฟเฟม (Internet Hall of Fame) จากองค์กรอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (Internet Society) และรางวัลโพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด สำหรับผู้อุทิศตนทางด้านอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นผู้ผลักดันให้โครงการ BKNIX เกิดขึ้น กล่าวว่า “อินเทอร์เน็ตคือโครงสร้างสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย เป้าหมายของบีเคนิกซ์คือการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ “บีเคนิกซ์” ได้ผนึกกำลังร่วมกับ STT GDC Thailand ไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อร่วมมือกันวางรากฐานระบบสื่อสารของประเทศให้มีความเข้มแข็ง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล”
นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรนาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสที เทเลมีเดีย โกล บอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand กล่าวว่า “พันธกิจของ STT GDC Thailand คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ ด้วยนิยามใหม่ของไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานที่มีใน “STT Bangkok 1” มั่นใจว่าจะเป็นหนึ่งในศูนย์เชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างประเทศที่รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในวันนี้และอนาคต เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับบีเคนิกซ์ พัฒนาศักยภาพ STT Bangkok 1 ให้เป็นศูนย์เชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างประเทศ และมั่นใจลูกค้าและพันธมิตรของเราจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือนี้อย่างแน่นอน”
นางสาวบุศรินทร์ ประดิษฐยนต์ ผู้จัดการทั่วไป เอสที เทเลมีเดีย โกล บอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ได้ชูศักยภาพความเป็น Hyper-connectivity ของ BKNIX และ Hyper-scale ดาต้าเซ็นเตอร์ ของ STT Bangkok 1 โดยเน้นไปที่ความสามารถในการรองรับ Capacity ได้ในระดับมหาศาลทั้งในเรื่องการรับส่งข้อมูลจำนวนมากด้วยความรวดเร็วบนเทคโนโลยี Layer 2 ซึ่งแตกต่าง Layer 3 ในสมัยก่อนที่เวลารับส่งข้อมูลต้องใช้เวลาในการประมวลผล หรือส่งข้อมูลออกนอกประเทศก่อนแล้วกลับมาที่ไทยทำให้เกิดความล่าช้า และอีกทั้งในฐานะที่ STT GDC Thailand เป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่รองรับ IT Load สูงถึง 40MW เรายังสามารถตอบสนองการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจลูกค้าอีกด้วย การจับมือกันในครั้งนี้ถือว่าเป็นสมการที่ลงตัวที่ช่วยในเรื่องของการลดต้นทุน (Cost) ลดระยะเวลาในการตอบสนอง (Latency) และเสริมศักยภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในพื้นที่ (Strengthen Local Internet Connectivity)” สำหรับ STT Bangkok 1 เป็นศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลแห่งแรกในกรุงเทพฯ เป็นอาคาร 7 ชั้น บนพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร พร้อมกำลังไฟสูงถึง 20 เมกะวัตต์ เปิดกว้างให้เชื่อมต่อแบบเสรี (Carrier-neutral) และมาพร้อมกับมาตรฐานระดับโลก อาทิ TIA-942 Rated-3, Uptime Institute Tier III Certification, LEED® ระดับ Gold version 4, มาตรฐาน Threat Vulnerability Risk Assessment (TVRA), มาตรฐาน ISO27001 และมาตรฐาน PCI-DSS ที่มุ่งเน้นความสำคัญด้านความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการเก็บข้อมูล เพื่อปกป้องข้อมูลที่มีค่าของลูกค้าจากการรั่วไหลทุกรูปแบบ พร้อมรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วด้านดิจิทัลจากองค์กรและผู้ให้บริการคลาวด์ และยกระดับให้ภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
โดยศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet eXchange Point) หรือ IXP คือ สิ่งอำนวยความสะดวกบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ทำให้สามารถเชื่อมต่อกันมากกว่าสองเครือข่ายระบบอัตโนมัติได้อย่างอิสระ (Autonomous System) มีเป้าหมายหลักเพื่ออำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนปริมาณข้อมูลที่วิ่งบนเครือข่าย (Internet traffic) ซึ่ง IXP เป็นองค์ประกอบหลักของโครงสร้าง/สถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ต (Internet Architecture) และมีความสำคัญเนื่องจากเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการจัดส่งข้อมูลไปยังผู้รับ (Content Delivery Networks: CDN) ให้ใกล้ลูกค้ามากขึ้น โดย IXP รับรู้ถึงปริมาณข้อมูลที่วิ่งอยู่บนเครือข่ายเป็นจำนวนมาก จากการส่งข้อมูลประเภทวีดีโอผ่านทาง CDN การทำงานของ IXP เป็นอิสระจาก IXP ของภูมิภาค เนื่องจากการเชื่อมต่อของ IXP ใช้ลิงก์ทางการค้าหรือลิงก์ของตนเอง ในประเทศกำลังพัฒนานั้นเห็นได้ชัดว่าการพัฒนา IXP ของภูมิภาคไม่สามารถถูกใช้อย่างเท่าเทียมกันในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากศูนย์กลางประชากรอยู่ท่ามกลางประเทศที่พัฒนาแล้ว นั้นทำให้เกิดข้อเสียเปรียบเรื่องการบริการอินเทอร์เน็ตแก่พลเมืองในพื้นที่ที่กำลังพัฒนา