งานนิทรรศการและการประชุมสุดยอดเมืองอัจฉริยะ ประจำปี 2566 (2023 Smart City Summit & Expo) หรือ SCSE ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเมืองอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม ณ ศูนย์นิทรรศการไทเปหนานกั่ง (Taipei Nangang Exhibition Center) ฮอลล์ 2 ในการนี้ สำนักงานพัฒนาเอเชียซิลิคอนวัลเลย์ (ASVDA) ได้สร้างพาวิลเลียนธีมเอเชียซิลิคอนวัลเลย์ขึ้นในงานเพื่อแสดงความสำเร็จของแผนพัฒนาเอเชียซิลิคอนวัลเลย์ 2.0 (ASVDP 2.0) โดยได้จัดแสดงโซลูชันเมืองอัจฉริยะต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ, การเกษตรอัจฉริยะ, พลังงานอัจฉริยะ และเทคโนโลยี 5G AIoT เป้าหมายคือขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ ยกระดับการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมผ่านแอปพลิเคชัน IoT ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถอันแข็งแกร่งของไต้หวันในการพัฒนาแอปพลิเคชันเมืองอัจฉริยะ
ASVDP 2.0 เป็นกลไกสำคัญสำหรับรัฐบาลในการช่วยให้ภาคส่วน IoT มีการพัฒนาและเติบโต ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมนวัตกรรมและอีโคซิสเต็มของผู้ประกอบการ โครงการ ASVDP 2.0 นี้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และได้ผลักดันให้ภาคส่วนนี้มีมูลค่าผลผลิตสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ในปี 2565 โครงการดังกล่าวยังนำไปสู่การสร้างสตาร์ตอัปด้าน IoT หลายแห่งที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชันเมืองอัจฉริยะจำนวนมาก การเปิดตัวโซลูชันแอปพลิเคชันเมืองอัจฉริยะ 249 รายการและการติดตั้งระบบอัจฉริยะได้สำเร็จกว่า 88 ระบบในประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จของโครงการดังกล่าว
นิทรรศการที่พาวิลเลียนธีมเอเชียซิลิคอนวัลเลย์ในหัวข้อ “Accelerating Green Transformation with Digital Innovation for a New Sustainable Future” (เร่งการเปลี่ยนผ่านสีเขียวด้วยนวัตกรรมดิจิทัลเพื่ออนาคตใหม่ที่ยั่งยืน) บอกเล่าเรื่องราวของนโยบายต่าง ๆ ที่สนับสนุนเมืองอัจฉริยะและการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งผู้ประกอบการสตาร์ตอัป ทั้งนี้ ผู้แสดงสินค้าหลายรายในงานเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด รวมถึงอีกหลายบริษัทที่ดึงดูดความสนใจจากนานาชาติ เช่น บริษัทควอดลิ้งค์ เทคโนโลยี (Quadlink Technology) ซึ่งติดตั้งระบบตรวจสอบอัจฉริยะ “อควอดลิ้งค์” (Aquadlink) ใน 8 เทศมณฑลและเมืองทั่วไต้หวัน รวมถึงยฺหวินหลิน, เจียอี้ และไถหนาน ตลอดจนส่งออกไปยังอินโดนีเซีย, บรูไน และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีการสร้างแบบจำลอง 3 มิติได้โดยไม่ต้องมีมาร์กเกอร์ (Naked 3D) ของบริษัทไอสเตจจิง (iStaging) ซึ่งสามารถใช้กับฮาร์ดแวร์หลายประเภทและได้มีการนำไปปรับใช้แล้วโดยแบรนด์ระดับไฮเอนด์ เช่น แอลวีเอ็มเอช (LVMH), ริชมอนด์ (Richemont) และลอรีอัล (L’Oreal) เพื่อนำเสนอประสบการณ์ AR/VR ที่สมจริงแก่ผู้เข้าชมห้างสรรพสินค้า
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นนับว่าเป็นตัวเร่งให้มีการพัฒนา AIoT และ 5G เร็วขึ้น จนนำไปสู่การสร้างโซลูชันเมืองอัจฉริยะ และช่วยให้หลายอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ บริษัทหัวคอม (HwaCom) ซึ่งเป็นผู้จัดแสดงสินค้าอีกราย ใช้เครือข่ายส่วนตัว 5G เพื่อฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในภาคพลังงานลมนอกชายฝั่งโดยปรับใช้ระบบการฝึกอบรมจำลองพลังงานลมที่ผสานรวมทั้งแบบ VR/MR ส่วนบริษัทเอดีอี เทคโนโลยี (ADE Technology) ก็ได้พัฒนาเซนเซอร์ข้อมูลทางสรีรวิทยาแบบไม่สอดแทรกที่ช่วยให้ผู้ดูแลแนวหน้าสามารถจัดการพฤติกรรมของผู้ป่วยนอนเตียงได้ดีขึ้น ทางด้านโซลูชันของบริษัทไซล์ เทคโนโลยี (Xile Technology) ที่นอกจากจะสามารถบริหารความคืบหน้าของโครงการได้แล้ว ยังช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยในสถานที่ทำงานผ่านการใช้งาน AI เพื่อคาดการณ์อันตรายจากสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วยโดยมีฟีเจอร์การแจ้งเตือนล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อตรวจพบข้อบกพร่องที่อาจเสี่ยงอันตรายในอนาคต ผู้ปฏิบัติงานจะสามารถซ่อมแซมแก้ไขข้อบกพร่องได้ก่อนที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือการหยุดชะงัก สุดท้ายคือบริษัทจอร์จิน (Jorjin) ที่ได้พัฒนาหนึ่งในเครื่องมือแรก ๆ สู่โลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) ซึ่งก็คือแว่นตา AR อัจฉริยะประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้สามารถใช้อินเทอร์เฟซตรวจจับดวงตาเพื่อจัดการการปฏิบัติงานได้
แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้จัดการการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการตอบสนองตามเป้าหมายภาวะโลกร้อนและการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ โดยบริษัทยูบิก (Ubiik) ผู้ชนะการประกวดราคามิเตอร์อัจฉริยะของไทพาวเวอร์ (Taipower) สี่สมัย นำเสนอระบบสื่อสารระยะไกลที่ใช้พลังงานต่ำและบริการคลาวด์ที่ช่วยเหลือสาธารณูปโภคในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สมาร์ทกริด นอกจากนี้ ยังมีบริษัททรีอีกรีน (3Egreen) ได้พัฒนาเซนเซอร์ที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้าใจและจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุปกรณ์ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ก็มีบริษัทเอ็มบราน ฟิลตรา (Mbran Filtra) ผู้ชนะรางวัลนวัตกรรมในงาน CES 2023 ได้เปิดตัวชุดเยื่อกรองระดับไมโครฟิลเตรชั่น (microfiltration membrane) ที่สามารถใช้ในการกรองน้ำดื่ม การแยกเกลือออกจากน้ำทะเล การบำบัดน้ำเสีย และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ ทางพาวิลเลียนยังร่วมมือกับเทียนเอิน เทคโนโลยี (TianYen Technology) เพื่อสร้างโซนประสบการณ์แบบอินเตอร์แอคทีฟโดยใช้การฉายภาพเพื่อแสดงผลงานความสำเร็จของโครงการริเริ่มเมืองอัจฉริยะและประเทศอัจฉริยะของเอเชียซิลิคอนวัลเลย์ และทางพาวิลเลียนก็ยังนำเสนอวิทยาลัยสำนักงานพัฒนาเอเชียซิลิคอนวัลเลย์ (ASVDA College) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับทุกคนที่สนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้าน AI, IoT หรือเทคโนโลยีดิจิทัล