อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยความคืบหน้าวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ขณะนี้การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนด ภายหลังอบรมเตรียมพร้อมทีมบุคลากรด้านเทคนิควิธีการให้บริการฉีดตามมาตรฐาน เพื่อเร่งรัดฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป้าหมายใน 77 จังหวัด โดยวัคซีนชุดแรกทยอยถึงโรงพยาบาล 69 แห่งในพื้นที่ 10 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. และเริ่มฉีดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตั้งเป้าฉีดให้ครบถ้วนภายในเดือนนี้
วันนี้ (5 สิงหาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้เร่งดำเนินการเป็นไปตามแผนที่ได้จัดวางไว้ ทั้งการเตรียมพร้อมบุคลากรที่จะทำหน้าที่ให้บริการฉีดทั้งด้านเทคนิคและวิธีการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามมาตรฐานของวัคซีนไฟเซอร์ รวมทั้งระบบการติดตามเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA base vaccine) มีความเข้มข้นสูง ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนด เพื่อคงประสิทธิภาพวัคซีน ซึ่งได้ให้สถาบันบำราศนราดูรจัดอบรมออนไลน์ให้แก่ทีมบุคลากรของสถานพยาบาลกว่า 600 คนทั่วประเทศ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (4 สิงหาคม 2564) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการ โดยวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกนี้ จะเร่งรัดฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ให้เป็นไปตามที่สถานพยาบาล หรือสถานบริการพิจารณา เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญ คือ การบริหารการจัดส่งวัคซีน เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์จะเก็บรักษาอยู่ในความเย็นอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส มีอายุได้เพียง 1 เดือน ดังนั้นจึงแบ่งการจัดส่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 คือวันที่ 4 – 7 สิงหาคม ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด โดยในวันที่ 4 – 5 สิงหาคม นี้ ดำเนินการส่งไปถึงปลายทางแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ กทม., จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สมุทรปราการ, นครนายก, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี รวมสถานพยาบาล 69 แห่ง ซึ่งพื้นที่สามารถแจ้งขอเพิ่มเติมได้ตามจำนวนและความต้องการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งให้ช่วงที่ 2
ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้วทั้ง กทม. และต่างจังหวัด อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลนครนายก,โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลระยอง เป็นต้น บางแห่งได้เริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ฯ แล้วในบ่ายวันนี้ และให้ครบตามเป้าหมายภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นก็จะเร่งดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป
Post Views: 307