ด้วยพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงวางรากฐานการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย การแพทย์นานัปการที่จะช่วยยกระดับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุด รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการการรักษาโรคมะเร็งทุกภาคส่วนในการพัฒนาศักยภาพการตรวจรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย
เพื่อขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สนองพระปณิธานโดยจัดทำโครงการที่จะผลักดันและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ด้านการรักษาโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียน และในโอกาสครบรอบ 11 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นจากพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุด โดยล่าสุดได้เปิดตัวเทคโนโลยีเพทเอ็มอาร์ไอ (PET/MRI) Biograph mMR 3 Tesla ที่นำมาให้บริการเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อเข้ามาเสริมศักยภาพการให้บริการตรวจวินิจฉัยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเป็น One Stop Shop Imaging ที่รวมนวัตกรรมเครื่องมือการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงในระดับโมเลกุลทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างครบวงจร โดยเครื่องเพทเอ็มอาร์ไอสามารถช่วยแพทย์ในการสร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ (Molecular Imaging) ที่ตรวจรอยโรคขนาดเล็กที่มีความซับซ้อนได้ เหมาะสำหรับการวินิจฉัยกับชนิดมะเร็งจำพวก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ มะเร็งสมอง มะเร็งนรีเวช มะเร็งศีรษะและลำคอ เป็นต้น
โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานงานแถลงข่าว พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ, คุณฟิลิป เพเดอบอสค์ กรรมการผู้จัดการ ซีเมนส์ เฮลทธิเนียรส์ ประเทศไทย ฯลฯ เข้าร่วมงาน พร้อมกันนี้ยังมีคณะสื่อมวลชนให้ความสนใจ เข้ารับฟังเทคโนโลยีประสิทธิภาพอันล้ำหน้า พร้อมเข้าชมเทคโนโลยีเครื่องเพทเอ็มอาร์ไอ (PET/MRI) ณ อาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลักสี่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ถือเป็นหนึ่งศูนย์ในแผนยุทธศาสตร์การให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพที่เป็นเลิศ มุ่งสู่การเป็น One Stop Shop Imaging ศูนย์รวมนวัตกรรมเครื่องมือการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงในระดับโมเลกุลทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจร เป็นศูนย์ที่ก่อตั้งขึ้นจากพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 สืบเนื่องจากที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสร้างภาพวินิจฉัยในระดับโมเลกุลทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่นับเป็นการยกระดับความก้าวหน้าไปอีกขั้นในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไทยในช่วงเวลานั้น การจัดตั้งศูนย์แห่งนี้จึงเป็นการช่วยบุกเบิกเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง และโรคระบบประสาทที่ทันสมัย โดยทรงวางแนวทางการดำเนินงานและทรงติดตามการก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาทขั้นสูงเพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดแก่ประชาชนคนไทย ทั้งยังมุ่งมั่นให้ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่วิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยด้วย โดยในปีที่ผ่านมาเราได้เปิดตัวเครื่อง “ดิจิทัลเพทซีที” ที่นำเข้ามาให้บริการเป็นเครื่องที่ 2 ในศูนย์ฯ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปิดตัวให้บริการเป็นแห่งแรกในเอเชีย และปีนี้ทางศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด “เพทเอ็มอาร์ไอ” PET MRI Biograph mMR 3 Tesla เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนและเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย ศูนย์เราจึงเป็นแห่งเดียวที่ผู้ป่วยหรือแพทย์ที่ต้องการส่งผู้ป่วยมาเข้ารับบริการด้านภาพวินิจฉัยในระดับโมเลกุลได้ครบจบในที่เดียว ภายใต้แนวคิด One-Stop Shop Imaging ศูนย์รวมของการนำนวัตกรรมเครื่องมือการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง โรคระบบประสาท และโรคหัวใจให้กับประชาชนคนไทยอย่างครบวงจร”
ทั้งนี้ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีภารกิจการให้บริการใน 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย
ส่วนแรก เป็นการให้บริการตรวจวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยด้วยเครื่องเพทซึ่งมีทั้งเทคโนโลยี “ดิจิทัลเพทซีที” Digital PET/CT Biograph Vision และ “เพทเอ็มอาร์ไอ” PET/MRI Biograph mMR 3 Tesla ให้แพทย์สามารถเลือกส่งตรวจในเครื่องที่มีความเหมาะสมกับรอยโรคและชนิดมะเร็งของผู้ป่วยได้ในอัตราค่าบริการใกล้เคียงกัน โดยเพทซีที อัตราเริ่มต้นที่ 20,000 บาท และเพทเอ็มอาร์ไอเริ่มต้นที่ 25,000 บาท แต่สำหรับบางชนิดของมะเร็งทางศูนย์ฯ ก็ให้บริการตรวจควบคู่กันให้ทั้ง 2 เครื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วย อาทิ มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจวินิจฉัยทั้งเครื่อง PET/MRI และ PET/CT พร้อมกันในอัตราค่าบริการ 23,000 บาท หรือตรวจเพทเอ็มอาร์ไอในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ราคา 18,000 บาท เป็นต้น โดยที่ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติให้บริการตรวจผู้ป่วยทั้งที่เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาเรามีผู้ป่วยมาเข้ารับบริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีทีเพิ่มขึ้น 65.89% คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยกว่า 5,063 รายที่เข้ามารับบริการ และในปีนี้เรามีศักยภาพที่จะรองรับการให้บริการผู้ป่วย 1,200 รายต่อเดือน
ส่วนที่สอง งานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ชั้น B1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคโดยการใช้สารเภสัชรังสีเพื่อประโยชน์ในการตรวจและรักษาผู้ป่วย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โรคความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท หรืออื่นๆ ภายในร่างกายโดยมี เทคโนโลยี “สเปคซีที” SPECT/CT เครื่องสร้างภาพการตรวจวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อการวินิจฉัยโรคโดยฉีดสารเภสัชรังสีเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย และสแกนตรวจวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะต่างๆ ด้วยเครื่อง Single Photon Emission Computed Tomography / Computed Tomography (SPECT/CT) การตรวจต่อมไทรอยด์ Thyroid Uptake and Scan และให้การรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งไทรอยด์ด้วยสารเภสัชรังสีไอโอดีน (I-131) หรือการกลืนแร่ การรักษาผู้ป่วยด้วยสารเภสัชรังสี อาทิ การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีการแพร่กระจายด้วยสารเภสัชรังสี 177Lu-PSMA-617 และ 225Ac-PSMA-617 การรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคมะเร็ง Neuroendocrine Tumor (NETs) ด้วยสารเภสัชรังสี 177Lu-DOTATATE รวมทั้งให้บริการตรวจวัดค่าความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่อง Bone Densitometer (BMD)
ส่วนที่สาม คือภารกิจในด้านเทคโนโลยีการผลิตและให้บริการ “สารเภสัชรังสี” Radiophamaceuticals ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากเครื่องไซโคลตรอน โดยผลิตและบริการให้กับสถานพยาบาลที่มีเครื่องเพทซีที โดยเรามีทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ร่วมกันคิดค้นพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในการผลิตสารเภสัชรังสีตัวใหม่ๆ ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนการผลิตเพื่อขายสารเภสัชรังสีให้กับโรงพยาบาลต่างๆ จำนวนกว่า 1,500 โดส ณ ปัจจุบันมีสารเภสัชรังสีที่ทางศูนย์สามารถผลิตเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้มากถึง 20 ชนิด
ด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของเครื่องเพทเอ็มอาร์ไอที่สามารถสร้างภาพเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม อวัยวะต่างๆได้คมชัดและให้รายละเอียดภาพที่สูง เหนือกว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีที ซึ่งเหมาะสมสำหรับการวินิจฉัยรอยโรคที่มีขนาดเล็ก และอวัยวะที่มีความซับซ้อน มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อใกล้เคียงกัน รวมถึงการสร้างภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น การทำงานของสมองเมื่อเกิดการกระตุ้น การเคลื่อนที่ของโมเลกุลของน้ำในเนื้อเยื่อ สร้างภาพเส้นใยประสาท การไหลเวียนของเลือดในสมอง, สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ (Metabolic/Molecular imaging) และแสดงภาพผสานระหว่าง PET imaging และ Anatomical/Functional imaging เพื่อช่วยเพิ่มข้อมูลในการวินิจฉัยให้มีความถูกต้องและแม่นยำสูงสุดให้ปริมาณรังสีต่ำกว่าการตรวจด้วย PET/CT ทั่วไป เนื่องด้วยการสร้างภาพด้วย MRI ไม่มีการปล่อยรังสี แต่ใช้การกำทอนของสนามแม่เหล็กแรงสูงและการกระตุ้นด้วยคลื่นวิทยุ (RF: Radiofrequency) เพื่อสร้างภาพอวัยวะความละเอียดสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจน้อยลง เหมาะสำหรับการตรวจในผู้ป่วยซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการรับรังสี เช่น ผู้ป่วยเด็ก
เครื่องเอ็มอาร์ไอ 3 เทสลาจะมีสนามแม่เหล็กแบบพิเศษ ซึ่งสามารถกระตุ้นได้ครอบคลุมบริเวณร่างกาย ทำให้ภาพที่ได้ครอบคลุมรอยโรคทั้งหมดในบริเวณที่ต้องการวินิจฉัย และมีเทคนิคพิเศษที่ช่วยให้สนามแม่เหล็กแรงสูงมีความสม่ำเสมอสูง ส่งผลให้สามารถปรับใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลการเมตาบอลิซึมที่ผิดปกติของสารประกอบในเนื้อเยื่อมะเร็ง (MRS : Magnetic Resonance Spectroscopy ) ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง และเพิ่มข้อมูลในการวินิจฉัยโรคให้กับแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่แพ้สารทึบรังสี เครื่องนี้สามารถปรับใช้เทคนิคพิเศษในการสร้างหลอดเลือดโดยไม่จำเป็นต้องมีการฉีดสารทึบรังสี (MRA: Magnetic resonance angiography) ก็สามารถสร้างภาพความผิดปกติของหลอดเลือดในผู้ป่วยที่แพ้สารทึบรังสีได้อย่างปลอดภัย
บริเวณที่ทำการสร้างภาพ เครื่อง PET/MRI สามารถเก็บข้อมูลการสะสมของสารเภสัชรังสีได้พร้อมกันในบริเวณเดียวกัน ทำให้ภาพระหว่างกายวิภาค (Anatomical Imaging) และ การทำงานของเซลล์ (Molecular Imaging) ที่ได้มีความสมบูรณ์ถูกต้องแม่นยำสูง ลดปริมาณสารรังสี และใช้เวลาการตรวจน้อยลง
เครื่อง PET/MRI ยังถูกออกแบบมาให้สามารถเก็บภาพ ได้ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าโดยการจัดท่าเพียงครั้งเดียว ทำให้สามารถเก็บภาพได้ครอบคลุมทั้งตัวโดยใช้เวลาน้อยลง พร้อมด้วยโปรแกรม Quiet Suit ที่ช่วยทำให้ไม่มีเสียงรบกวนระหว่างผู้ป่วยเข้ารับการตรวจ และยังคงคุณภาพของภาพไว้ได้อย่างครบถ้วน มีเทคนิคการถ่ายภาพอวัยะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงหน้าอก และช่องท้องจากการหายใจ โดยการแก้ไขค่าการเคลื่อนไหวของภาพทรวงอกจากการหายใจของคนไข้ ทำให้ภาพบริเวณปอดคมชัดขึ้น มีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยในการระบุตำแหน่งปรับการวางระนาบเพื่อเก็บข้อมูลภาพให้มีความเที่ยงตรง แม่นยำ ถูกต้อง และเหมาะสมสำหรับคนไข้เฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ค่าการลดทอนเชิงรังสีได้อย่างถูกต้องแม่นยำด้วยโปรแกรมประยุกต์ที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างแผนที่การลดทอนเชิงรังสีจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย Bone class, Tissue class, Air class, Fat class, Lung adaptive class ผนวกรวมกับ HUGE ซึ่งวิเคราะห์และประมวลผลการแก้ค่าการลดทอนเชิงรังสี และรังสีกระเจิงในบริเวณขอบภาพ ทำให้การวิเคราะห์ค่าเชิงปริมาณของภาพ PET มีความถูกต้องแม่นยำ และน่าเชื่อถือ เหมาะสมสำหรับการวินิจฉัย
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช ได้แถลงข้อมูลถึงสารเภสัชรังสี 2 ชนิดใหม่ล่าสุดที่ทางศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้แก่ 18F-FES สำหรับตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม วินิจฉัยเซลล์มะเร็งลึกถึงระดับฮอร์โมนเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนรักษาให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และอีกตัวคือ 68Ga-FAPI เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อช่วยค้นหาจุดต้นกำเนิดของการก่อเกิดเซลล์มะเร็ง ใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งตับ มะเร็งศีรษะและลำคอ โดย 68Ga-FAPI เป็นสารเภสัชรังสีที่ได้รับรางวัล Image of the year around the world 2019 จากองค์กร Society of Nuclear Medicine and Molecular Imaging (SNMMI) เป็นสารเภสัชรังสีที่มีความจำเพาะกับเอนไซม์ที่อยู่บริเวณผิวเซลล์มะเร็งชนิด Cancer-associated fibrobiasts (CAFs) เนื่องจากมีการจับของสารเภสัชรังสีน้อยที่บริเวณสมอง ตับ และช่องท้อง สามารถตรวจพบรอยโรคหรือการกระจายไปยังตำแหน่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสารเภสัชรังสีที่ใช้ตรวจเพทสแกนในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2563 ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกรายที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องดิจิทัลเพท-ซีทีด้วยสารเภสัชรังสี 18F-FDG อัตราค่าบริการ 20,000 บาท จะได้รับการตรวจเพิ่มด้วยสารเภสัชรังสี 18F-FES ทุกราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องดิจิทัลเพท-ซีทีและผู้ป่วยมะเร็งตับที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพท-เอ็มอาร์ไอ อัตราค่าบริการ 20,000 บาท พร้อมได้รับการตรวจเพิ่มด้วยสารเภสัชรังสี 68Ga-FAPI ทุกราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้ตั้งอัตราค่าบริการเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ อาทิ ตรวจวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทด้วยเครื่องดิจิทัลเพท-ซีทีราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท และตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องเพท-ซีทีอนุพันธ์น้ำตาล FDG ราคา 20,000 บาท และเครื่องเพทเอ็มอาร์ไอ เริ่มต้นที่ราคา 25,000 บาท เฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก ราคา 23,000 บาท และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ราคา 18,000 บาท หากนึกถึงบริการทางการแพทย์ด้านการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงในระดับโมเลกุลทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหัวใจ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ คือ ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยที่คุณสามารถเข้ามารับบริการได้ครบจบในที่เดียวเป็น One-Stop Shop Imaging โดยสามารถนัดหมายผ่านทาง LINE ของศูนย์ไซโคลตรอนฯ (ID Line: 0960918369 ) หรือโทรนัดหมายที่เบอร์ 096-0918369 โดยจะเปิดให้บริการทุกวันเพื่อลดระยะเวลาการรอคอยสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีทีหรือเพทเอ็มอาร์ไอ และรองรับผู้ป่วยที่สามารถส่งต่อมาจากทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกๆด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อประชาชนคนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงได้