กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ติดตาม ตรวจสอบ และร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่สอบสวนโรคกรณีเด็กหญิงเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสายพันธุ์ของไข้เลือดออก และขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้นต่อไป แม้ช่วงนี้ไข้เลือดออกจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (13 กันยายน 2562) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า เด็กหญิงอายุ 17 ปี ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า แพทย์ที่ให้การรักษาระบุสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก และขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งตัวอย่างไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสายพันธุ์ของไข้เลือดออก ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก กรมควบคุมโรค ต่อไป
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง และกองระบาดวิทยา ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเตรียมดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างทันท่วงที และมอบหมายให้หน่วยงานในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ติดตาม ตรวจสอบ และส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติม รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการให้ความรู้ สื่อสารความเสี่ยง ให้คำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทยในหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในช่วงนี้มีผู้ป่วยลดลงเหลือประมาณ 3,500 – 3,700 รายต่อสัปดาห์ จากที่เคยพบในช่วงฤดูการระบาดที่พบมากถึง 4,000 – 5,000 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่ได้ดำเนินการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคติดต่อจากยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก
สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
หากมีอาการคล้ายไข้หวัด และมีอาการไข้สูงเฉียบพลันในตอนแรก อย่าซื้อยารับประทานเองเพราะอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาภายหลังและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะยาบางชนิด เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น การรักษาในระยะต้นที่มีไข้สูงใน 1-2 วันแรกไม่เป็นอันตรายใดๆ เว้นแต่ในรายที่ไม่ยอมหายหลังจากไข้ลด โดยช่วงไข้ลดมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดไหล ที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ทันท่วงที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
Post Views: 794