วันที่ 13 กันยายน 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้มอบหมายให้นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต เข้ารับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. ที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งในปีนี้ กรมสุขภาพจิตมีผลงานการพัฒนาระบบบริการประชาชน และได้รับรางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร. รวม 7 ผลงาน ประกอบด้วย สาขาบริการภาครัฐ จำนวน 6 ผลงาน และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 1 ผลงาน

นายแพทย์ชิโนรส กล่าวว่า ในสาขาบริการภาครัฐ ประเภทรางวัลพัฒนาการบริการ ระดับดี มีจำนวน 6 ผลงาน ได้แก่

1. การสร้างฮีโร่ในพื้นที่ สร้างเด็กดีสู่สังคม สร้างระบบบริการสุขภาพจิตให้ยั่งยืน โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาโปรแกรมเสริมพลังครูและผู้ปกครองเพื่อการปรับพฤติกรรมเด็กวัยเรียน ซึ่งพบว่า โปรแกรมนี้สามารถใช้ปรับพฤติกรรมเด็กกลุ่มเสี่ยงให้ดีขึ้นได้ถึงร้อยละ 60 ตลอดจนครูมีทักษะในการจัดการพฤติกรรมและจัดการเรียนที่ดีขึ้น

2. การพัฒนานวัตกรรมกล่องเคลื่อนไหว ประสานกาย-ใจผู้สูงอายุ โดยโรงพยาบาลศรีธัญญา การพัฒนานวัตกรรมนี้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่คิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาให้กับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตร่วมกัน โดยใช้การบริหารสมองที่เน้นจุดกระตุ้นการเชื่อมโยงของระบบประสาทของสมองให้มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง และแนวคิดการกรอกลูกตา ช่วยทำให้นอนหลับได้ ลดอารมณ์เศร้าหมอง คลายเครียด เคลื่อนไหวได้คล่องตัว และมีความสุขมากขึ้น

3. การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชร่วมกับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบ้านเมตตา จังหวัดนครราชสีมา โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชหลังจากได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพตามโปรแกรมการพื้นฟูสมรรถภาพแล้ว พบว่า มีทักษะจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตประจำวันทั้ง 6 ด้านดีขึ้น ได้แก่ ด้านการดูแลตนเอง การอยู่ร่วมกันภายในบ้าน ทักษะทางสังคม การทำงาน การพักผ่อน และการใช้ชีวิตในชุมชน ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพสามารถกลับไปอยู่บ้านและประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

  1. การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการสู่การมีงานทำที่ยั่งยืน โดยโรงพยาบาลสวนปรุง เพื่อให้คนพิการทางจิตเข้าทำงานในรูปแบบใหม่ คือ การจ้างงานให้ได้ทำงานอยู่ในชุมชนของตน ส่งผลดีทำให้คนพิการสามารถทำงานใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล ทำงานในพื้นที่ที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย มีความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน 5. การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการล่าช้าในหน่วยบริการสาธารณสุข โดยสถาบันราชานุกูล จากการดำเนินงานพบว่า มีระบบบริการดูแลช่วยเหลือเด็กพัฒนาการล่าช้าในหน่วยบริการสาธารณสุขตามแนวทางที่กำหนด จำนวน564แห่ง คิดเป็นร้อยละ 63.16 เด็กที่พัฒนาการล่าช้าได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ ร้อยละ 31.72 และเด็กพัฒนาการล่าช้าได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจนมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 69.10 และ 6. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายในระบบ R506Dashboard เขตสุขภาพที่ 8 โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ซึ่ง R506Dashboard เป็นเทคโนโลยีเฝ้าระวังในการติดตามควบคุมปัญหาทางด้านสุขภาพจิต กลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย เขตสุขภาพที่ 8 เป็นเขตเดียวของประเทศที่ใช้ระบบนี้ ทำให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยง หาปัจจัย วางแผนแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมีแนวโน้มลดลง จากปี 2561 อยู่ที่ 6.85 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2562 ลดลงอยู่ที่ 2.48 ต่อประชากรแสนคน และการติดตามกลุ่มเสี่ยง จำนวน 736 ราย ไม่มีผู้ทำร้ายตนเองซ้ำ คิดเป็นร้อยละ 100

สำหรับรางวัลสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 1 ผลงาน คือ ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ในผลงานเรื่อง “โครงการชุมชนฮักแพง เบิ่งแยงลูกหลานวัยรุ่น : อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี” โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 เป็นผลงานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และตัวแทน 4 สหายเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ ท้องที่ (นายอำเภอ) ท้องถิ่น (เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล) ภาครัฐ (สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน) และประชาชน (แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานวัยรุ่นในครอบครัว วัยรุ่น สภาเด็ก กลุ่มวัยรุ่นที่ก้าวข้ามความเสี่ยง) นวัตกรรมที่เกิดขึ้น คือ มีคู่มือวิทยากร “ฮักแพง เบิ่งแยงลูกหลานวัยรุ่น” : การมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครองในการปรับตัวเองเพื่อเข้าใจลูกหลานวัยรุ่น เขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มวัยของกรมสุขภาพจิต โดยใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดี และมีทักษะการสื่อสารให้ได้ใจวัยรุ่น มีสัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น รวมทั้งเกิดเครือข่ายการดูแลช่วยเหลือครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่นในชุมชน รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว