กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาคีเครือข่ายทำงานด้านเอดส์จากทั่วโลก ยกระดับความร่วมมือในกลุ่มประเทศที่มุ่งเน้น (Focal Countries Collaboration: FCC) เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นและการสนับสนุนที่เข้มข้นขึ้นของมาตรการและในการดำเนินงานระดับโลก ยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีทุกรูปแบบ นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์
ที่ห้องประชุมอายุรกิจโกศล กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยแพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้การต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาคีเครือข่ายทำงานด้านเอดส์จากทั่วโลก ประกอบด้วย โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริกา (USCDC) สำนักงานกองทุนโลก (The Global Fund) ผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนอื่นๆ ในการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการถึงประเด็นจากการเยี่ยมดูงานเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับภาคีเครือข่ายในประเทศไทย และยกระดับความร่วมมือในกลุ่มประเทศที่มุ่งเน้น (Focal Countries Collaboration: FCC) เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นและการสนับสนุนที่เข้มข้นขึ้นของมาตรการการดำเนินงานระดับโลก ด้วยการ สานพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีทุกรูปแบบ นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเร่งการตอบสนอง (catalytic funds) ซึ่งเป็นงบประมาณจาก USCDC ผ่านทาง UNAIDS เพื่อยกระดับการดำเนินงานตามมาตรการสำคัญๆ ในการยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี ภายใต้โครงการทั่วโลกสานพลัง ในแผนงานความร่วมมือกลุ่มประเทศที่มุ่งเน้นยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขยายการทำงานของภาคีความร่วมมือระดับโลก โดยเฉพาะ ความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างโครงการกองทุนโลก (the Global Fund), UNAIDS และแผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (President’s Emergency Plan for AIDS Relief หรือ PEPFAR)
ทั้งนี้ ประเทศไทยที่ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นในการยุติปัญหาเอดส์ โดยมีเป้าหมาย “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” ซึ่งพบว่าในปี 2563 คนไทยยังมีทัศนคติเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ ร้อยละ 48.6 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการแก้ไขปัญหาเอดส์ นี่จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการที่มีงบประมาณกำกับเพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีและเพศสภาพทุกรูปแบบ ปี 2565 – 2569 และบทเรียนสำคัญที่ผ่านมาของประเทศไทย การพัฒนาชุดการดำเนินงาน 3×4 เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ และขยายการดำเนินงานในภาคส่วนสุขภาพและเรือนจำ ระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ เพศภาวะ และความเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ (Crisis Response System) หรือ “ปกป้อง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า การหารือได้พูดถึงประเด็นที่ประเทศไทยเป็นประธาน คณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board: PCB) ในปี 2565 ซึ่งการเยี่ยมดูงานครั้งนี้จะช่วยมองหาทางเลือกต่างๆ ในการยกระดับบทบาทภาวะของการนำของประเทศในการยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี รวมถึงการกำหนดทางเลือกในการนำเสนอความสำเร็จในการประชุม PCB และการเยี่ยมดูงานในประเทศไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2565