เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี ได้ประชุมเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยจะร่วมกันผลิตและเผยแพร่ข้อมูลความรู้เตือนภัยบนโลกออนไลน์ถือเป็นไซเบอร์วัคซีนที่ใช้เป็นภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและรับมือมิจฉาชีพได้โดยไม่ตกเป็นเหยื่อ โดยจะประชาสัมพันธ์เปิดเผยกลโกง และวิธีการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพในสารพัดรูปแบบ ผ่านช่องทางการสื่อสารของเครือซีพีซึ่งมีธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและธุรกิจโทรคมนาคมที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ การประชุมความร่วมมือดังกล่าว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุรพล เปรมบุตร รอง ผบช.สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(สอท.) ร่วมกับ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนางสาวรุจนาฏก์ วิมลสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ด้านบรรษัทสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยคณะทำงานทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกันหารือและวางแผนดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
พล.ต.ต.สุรพล เปรมบุตร รอง ผบช.สอท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าภัยบนโลกออนไลน์ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มีการพัฒนารูปแบบและใช้กลโกงที่หลากหลาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนและความมั่นคงของประเทศ มีผู้เดือดร้อนและมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการทั้งมาตรการป้องกันปราบปราม และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อดิจิทัลและสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ก็ยังคงมีประชาชนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ จนต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ในการนี้ จึงได้ริเริ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยได้หารือเบื้องต้นกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยที่มีเครือข่ายทางการค้าที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยจะร่วมมือกันผลิตและเผยแพร่ข้อมูลความรู้เตือนภัยบนโลกออนไลน์ ถือเป็นไซเบอร์วัคซีนที่ใช้เป็นภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยคาดหวังจะกระจายไซเบอร์วัคซีนไปยังพี่น้องประชาชนในทุกจังหวัดผ่านช่องทางร้านค้าปลีกร้านค้าส่งของเครือซีพี ได้แก่ ร้าน 7-11 ห้างแม็คโคร และโลตัส เป็นต้น รวมถึงสื่อสารผ่านสถานีข่าว TNN16 และสื่อต่าง ๆ ของกลุ่มโทรคมนาคมและการสื่อสารของเครือฯ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ตั้งแต่เป็นวันที่ 1 มี ค. – วันที่ 19 ธ.ค.2565 มีเรื่องแจ้งผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์รวม 151,361 คดี มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 25,000 ล้านบาท โดยคดีที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดคือ คดีหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ มีจำนวนกว่า 1 หมื่น 3 พัน ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 6 พันล้านบาท รองลงมาคือ คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์(Call Center) จำนวนกว่า 1 หมื่นราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 2 พันล้านบาท รองลงมาคือ คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม (หลอกให้ทำงานออนไลน์) จำนวนกว่า 2 หมื่นราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 2 พันล้านบาท และการหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน จำนวนกว่า 1 หมื่นราย มูลค่าความเสียหายกว่า 7 ร้อยล้านบาท
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่าโครงการนี้ถือเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) ในรูปแบบเพื่อสังคมระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเครือซีพี ซึ่งเครือซีพีมีความยินดีและพร้อมที่จะใช้ศักยภาพทางธุรกิจมาช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรณีความร่วมมือเพื่อร่วมกันผลิตไซเบอร์วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากภัยบนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยมิจฉาชีพได้พัฒนารูปแบบและกลการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงหวังว่าไซเบอร์วัคซีนจะเป็นภูมิคุ้มกันแก่พี่น้องประชาชนให้รอดจากมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
Post Views: 209