สิ่งที่ท้าท้ายมากที่สุดสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย คือการทำให้คนทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี อย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจ ระดมกำลัง ระดมสมอง เพื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 “TSRI Annual Symposium 2022” ขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีการยกเรื่องนี้มาเสวนากัน ในหัวข้อ “ก้าวย่างที่มั่งคงของการขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วประเทศด้วย ววน.” โดยมี ศ. นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) , นายโสภณ แท่งเพ็ชร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (สศช.), ศ. ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. และมี ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศ. นพ.สุทธิพร กล่าวว่า นโยบายของการทำงานวิจัย ไม่ใช่เพื่อให้นักวิจัยอยู่ดีกินดี แต่สิ่งที่มุ่งหวังคือการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ดีที่บำรุงรักษาได้ เป็นเป้าหมายของเราที่ต้องการจะพัฒนาสู่อนาคต ซึ่ง กสว. เน้นความสำคัญในเรื่องของการใช้ประโยชน์ (Utilization) โดยเฉพาะการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสังคม แม้ระหว่างทางจะมีหุบเหวหรืออุปสรรคมากมาย แต่เราจะทำอย่างไรให้งานวิจัยถูกนำมาใช้และพัฒนาต่อยอดได้สูงสุด เราเดินหน้าติดตามงานวิจัยเชิงนโยบายที่ใช้ในส่วนท้องถิ่น ซึ่งถูกกระจายการจัดการไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยงบประมาณถูกจัดสรรไปใช้กับงานโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเรามองว่าการบริหารจัดการต้องสามารถนำองค์ความรู้ที่มีมาแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างลึกซึ้ง
“เห็นภาพจากการทำงานของท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ลงลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน จะนำความรู้ไปแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างไร หากความรู้ที่มีไม่เพียงพอ ควรหาใครมาช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่การทำแบบลองผิดลองถูก นี่คือ Utilization ที่แท้จริง ซึ่งเมื่อทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน ก็จะเกิดการพัฒนาเชิงภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์ เราต้องทำงานเป็นทีม จึงเกิด Research Utilization หรือการนําสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาวิจัยหรือหลักฐานเชิงวิจัยไปใช้ในการปฏิบัติ”
ศ. นพ.สุทธิพร กล่าวอีกว่า Research Utilization สรุปได้ดังนี้ คือ 1.) ต้องวางเป้าหมายโดยชุมชนว่าคืออะไร 2.) การสร้างพลัง คือต้องมีผู้นำที่ดีที่คอยแนะนำชุมชนได้ เป็นอาวุธที่จะติดปีกคนในชุมชนด้วยความรู้ 3.) การดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ป้องกันไม่ให้เป็นดั่งไม้ล้มลุก เกิดขึ้นแล้วดับไป อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และ 4.) การติดตามผล ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับชุมชน แล้วยึดหลักดำเนินการกันต่อไป สิ่งที่ไม่ใช่ ไม่ดีก็ต้องแก้ไข ไม่ใช่ว่างานวิจัยกำหนดว่าอย่างไรต้องทำตามนั้น ตรงกันข้ามเราต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติของพื้นที่นั้นๆ ต้องหารูปแบบในการสนับสนุนใหม่ อย่างการนำงานวิจัยไปใช้ในชุมชนอาจจำเป็นต้องลงทุนในเรื่องเครื่องมือเครื่องจักรอีกด้วย เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะสม
ด้านนายโสภณ กล่าวว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่ต้องให้ความสำคัญและทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนประเทศและเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่ผลการพัฒนาที่ผ่านมายังมีความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ และความเหลื่อมล้ำประชากร ซึ่ง กทม.และปริมณฑลมีประชากร 46 เปอร์เซ็นต์และมีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่ภาคอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตอบสนองกับวาระการพัฒนาโลก หรือ SDGs การลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงเน้นเรื่อง การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-Based Development) และมีข้อกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 9 ว่าด้วยการพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (ปี 2566-2570) ยังให้ความสำคัญกับ Area-Based Development สานต่อจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 โดยมองในเรื่องศักยภาพของพื้นที่ และกำหนดเป้าหมายการพัฒนา ภูมิภาคทั้ง 6 ภาค แต่ช่วงนี้กลับต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อฐานราก รัฐบาลพยายามสร้างฐานเศรษฐกิจโดยระเบียงเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาค และเราเห็นความสำคัญการพัฒนาพื้นที่ในการเป็นตัวขับเคลื่อนหัวใจสำคัญที่ก่อประโยชน์
“ววน.มีประโยชน์และต้องลงพื้นที่ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อลงไปยังชุมชน เราโฟกัสแต่ภารกิจหน้าที่ แต่ความสำเร็จต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อเกิดเป้าหมายและบรรจุผลสำเร็จร่วมกัน นี่เป็นอุปสรรคมากในการขับเคลื่อน เชื่อว่า ววน.มีศักยภาพตอบโจทย์พัฒนาภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด และท้องถิ่น” นายโสภณ กล่าว
ขณะที่ ศ. ดร.ปิยะวัติ กล่าวว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่ เราไม่พูดถึงกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่พูดถึงทั้งพื้นที่ เพื่อตั้งเป้าหมายความสำเร็จระดับพื้นที่ ซึ่งการวัดการเปลี่ยนแปลงและการชี้วัด ไม่ใช่แค่งานวิจัยเท่านั้น เวลาเราจะสร้างงานในพื้นที่ให้มั่นคง เราต้องทำงาน 2 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นชั้น project ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ทำอย่างไรให้โครงการที่ดีเกิดขึ้นที่อื่นอีก เราจึงต้องพูดถึงงานชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นเหมือนเป็นการสร้างแพลตฟอร์ม หรือเครือข่ายเหมือนกับระบบหลังบ้าน เป็นลักษณะของการจัดการ เพื่อให้มีการขยายผล มีความมั่นคงยั่งยืน ทั้งนี้ ต้องมีคนกลางเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือชุมชน เพื่อจัดโครงสร้างต่างๆ
“ขณะที่ตัวชี้วัดในปัจจุบันเริ่มล้าสมัยแล้ว ที่ยังติดอยู่กับโลกเก่า ปัจจุบันสถานการณ์พลวัตมีการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้ตัวเลขในการชี้วัดเป็นเพียงตัวเลขในกระดาษ ซึ่งเป็นเพียงจำนวนตัวเลขมากกว่าคุณภาพ ดังนั้นต้องหาแนวทางหรือตัวชี้วัดใหม่เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัย” ศ. ดร.ปิยะวัติ กล่าว