บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการต่อสู้กับแรงงานทาสยุคใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองบริษัทปราศจากแรงงานที่ผิดกฎหมาย
ในการประชุมประจำปีของ SeaBOS ที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งสองบริษัทแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า “แรงงานทาสยุคใหม่ เป็นความท้าทายระดับโลก ซี่งมีความพยายามร่วมมือเพื่อขจัดให้หมดไป ในการทำงานระหว่างปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”
“เรามีความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญในทุกเรื่องเช่น การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การสร้างศักยภาพของผู้มีส่วนได้เสีย การประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ เราพร้อมจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับประชาคมโลก และร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้แรงงานทาสยุคใหม่กลายเป็นปัญหาในอดีต”
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู กล่าวว่า “ที่ไทยยูเนี่ยน เรามุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะต่อสู้กับการค้ามนุษย์ ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่เรามีวิธีในการดำเนินการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และเรายังมีการดำเนินการตรวจสอบคู่ค้าของเราโดยหน่วยงานจากภายนอก แต่เราทราบดีว่า เราไม่สามารถต่อสู้ปัญหากับปัญหานี้ได้เพียงลำพัง ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราต้องใช้วิธีการความร่วมมือกันและทำงานกับผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า “การเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการจ้างแรงงานและการจัดสวัสดิการ ทั้งยังให้การสนับสนุนศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Centre : FLEC) ซึ่งมีการจัดอบรมและกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานประมง ตลอดจนการยึดปฏิบัติตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของบริษัท โดยกำหนดเป้าหมาย 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทที่นำมาใช้จะต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารย่อยสลายได้ (Compostable) ภายในปี 2568”
ดร. อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวในที่ประชุม SeaBOS เกี่ยวกับ การที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทยจากการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนจึงเป็นผลให้เกิดการพัฒนาด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดร. อดิศร กล่าวอีกว่า ใบเหลืองได้ถูกยกเลิกเมื่อต้นปี 2562 แต่อย่างไรก็ดี ใบเหลืองได้ส่งผลให้ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการซึ่งปัจจุบันมีการบังคับใช้อยู่ เพื่อลดการทำประมง IUU และการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย
SeaBOS เป็นองค์กรที่นำนักวิทยาศาสตร์จาก Stockholm Resilience Centre ของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์ (Royal Academy of Sciences) ของประเทศสวีเดน และบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลก 10 บริษัท SeaBOS มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีต่อการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร
การประชุมปีนี้ของ SeaBOS มีไทยยูเนี่ยน และซีพีเอฟ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่องานว่า Global Connectivity – Consolidating and Accelerating Change ผู้ร่วมประชุมตกลงที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงทางวิทยาศาสตร์และภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น นอกจากนี้ ทุกคนยังตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และการบังคับใช้แรงงาน การปรับปรุงการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเล และการทำงานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนการจัดการการทำประมง
สมาชิกของ SeaBOS ทุกคนได้มีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดการผลกระทบสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุตสาหกรรมอาหารทะเล พร้อมกับการรับรู้ถึงประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพจากการรับประทานอาหารทะเลมากขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหาร