บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวเมื่อวันเสาร์ (27 พ.ค.) ว่า จีนได้พัฒนาการสื่อสารระหว่างประเทศผ่านแนวทางปฏิบัติและการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งช่วยเผยแพร่และส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างความทันสมัยของจีนไปทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในงานปาฐกถาเกี่ยวกับการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Talks of Sci-tech Communication) ซึ่งเป็นชุดงานที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยการสื่อสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ (Research Institute of International Sci-tech Communication) อันเป็นสถาบันที่ก่อตั้งโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (China Association for Science and Technology) และไชน่า เดลี เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว งานดังกล่าวเป็นแหล่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทั้งในและต่างประเทศ
คุณกัว หัวตง (Guo Huadong) ประธานคณะกรรมการสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศของจีน (Chinese Committee of the International Science Council) และนักวิชาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) กล่าวว่า โลกกำลังส่งเสริมวิทยาศาสตร์แบบเปิด (open science) อย่างจริงจัง และการสื่อสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกคนจึงควรเป็นนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
คุณกัวกล่าวว่า การเรียนรู้ที่จะใช้พลังของบิ๊กดาต้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือประเด็นสำคัญของทุกภูมิภาคที่มีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) รวมถึงเป็นประเด็นสำคัญของทั้งโลก โดยจีนได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และในปี 2564 ก็ได้ตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านบิ๊กดาต้าเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Research Center of Big Data for Sustainable Development Goals) เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ทางศูนย์ฯ ได้ส่งข้อมูล 7 ชุดเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ไปให้สหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยทุกประเทศทั่วโลกสามารถเข้าดูรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวได้ “ผมคิดว่าข้อมูลคือภาษากลางของมนุษยชาติ และเป็นรูปแบบการเผยแพร่ความรู้ด้วย ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องปล่อยให้ข้อมูลผลิดอกออกผล และเปลี่ยนดอกผลนั้นเป็นสารสนเทศและความรู้ด้วยเช่นกัน” คุณกัวกล่าว
คุณหลิว โช่วชุ่น (Liu Shouxun) รองประธานมหาวิทยาลัยการสื่อสารแห่งประเทศจีน (Communication University of China) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อส่งเสริมความทันสมัยของจีนผ่านการสื่อสารระหว่างประเทศ คือต้องเล่าเรื่องของจีนให้ดี “เรื่องราวของจีนมีหลายเวอร์ชั่น ความแข็งแกร่งของชาติตะวันตกที่พัฒนาแล้วทำให้มุมมองของพวกเขาที่มีต่อจีนครอบงำเวทีระหว่างประเทศมายาวนาน โดยอ้างสิทธิ์ที่จะนิยามเรื่องเล่าของจีนในแง่ของความคิดเห็นสาธารณะระหว่างประเทศ การแข่งกันระหว่างเรื่องเล่าของจีนเวอร์ชั่นนี้กับเวอร์ชั่นของจีนเองนั้นเป็นปัญหาแรกที่ต้องแก้ไขผ่านการพัฒนาการสื่อสารระหว่างประเทศ เราต้องการแนวคิดเพิ่มเติมแบบเดียวกับการทำจีนให้ทันสมัย ซึ่งไม่เพียงแต่เผยแพร่ออกไปเท่านั้น แต่ยังต้องให้โลกเข้าใจด้วย” คุณหลิวกล่าว
คุณหลิวกล่าวว่า การสื่อสารระหว่างประเทศของจีนไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ระเบียบพื้นฐานของการสื่อข่าวในขั้นแรกเท่านั้น แต่ควรยึดหลักปรัชญา, สังคมวิทยา, การเมือง, วรรณคดี และศาสตร์แขนงอื่น ๆ ด้วย
คุณหลิวกล่าวว่า กำลังการผลิตความรู้ที่เข้มแข็งจะช่วยให้นักสื่อสารของจีนสามารถสรุปรวบยอดและอธิบายแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับจีนได้ชัดเจน อาทิ ความทันสมัยของจีนและความหมายแฝงของแนวคิดดังกล่าว จากนั้นจึงครองสิทธิ์ในการพูดถึงและกำหนดภาพลักษณ์ของจีนในการสื่อสารระหว่างประเทศอีกทอดหนึ่ง
คุณหู เจิ้งหรง (Hu Zhengrong) ผู้อำนวยการสถาบันวารสารศาสตร์และการสื่อสาร (Institute of Journalism and Communication) แห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences) กล่าวว่า เรื่องราววิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของจีน และมีส่วนสำคัญในการแสดงให้โลกเห็นภาพลักษณ์ของประเทศที่น่าเชื่อถือ น่าชื่นชม และน่าเคารพยำเกรง
คุณหูกล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร ต่างก็ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการสื่อสารในด้านต่าง ๆ เช่น การผลิต, การเผยแพร่ และการบริโภค ขณะที่การสื่อสารก็ช่วยเพิ่มความสามารถและยกระดับการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
คุณหูปิดท้ายว่า เบื้องหลังเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือการแสวงหาและค่านิยมของมนุษยชาติที่มีร่วมกัน และค่านิยมที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนก็เป็นสากลและดึงดูดผู้อ่านจากทั่วโลก