วันอังคาร ที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป และ นายอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือในการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์” ระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และ บริษัท อีสต์ เวสท์ ซีด จำกัด ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับบริษัท อีสต์ เวสท์ ซีด จำกัด ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก ในนาม “เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง” ร่วมดำเนินงานในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมมือในการผลิต และขยายเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไปยังเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในอันที่จะให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวได้ในราคาที่ย่อมเยา เหมาะสม อย่างทั่วถึงและเพียงพอ สนองต่อเป้าหมายที่สำคัญของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่มุ่งสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนให้มีความร่มเย็นเป็นสุขและอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือชัยชนะแห่งการพัฒนา เมล็ดพันธุ์ที่จะดำเนินการผลิตนี้ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามให้ และให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช โดยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการพัฒนาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อให้ทรงนำไปพระราชทานแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก แต่ด้วยความต้องการเมล็ดพันธุ์ที่มากขึ้น ทำให้ไม่สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวสู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง
โดยเมล็ดพันธุ์พระราชทานที่จะดำเนินการผลิตและจำหน่ายตามข้อตกลงนี้ มีจำนวน 16 ชนิด ซึ่งเป็นการปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 10 ชนิด ประกอบด้วย ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 /ถั่วแขกสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 /ถั่วแขกสีเหลืองเทพรัตน์ เบอร์ 1 /ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1 /มะเขือเปราะพวงหยกจักรพันธ์ /พริกขี้หนูปู่เมธ เบอร์ 1 /พริกขี้หนูพัฒนฉันท์ /ผักกาดหอมห่อสีม่วง ช่อผกาพัฒนาเอง /ผักกาดหอม สลัดสวยงาม และแตงไทยหอมละมุน การปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย มะเขือเทศจักรพันธ์ 1 /มะเขือเทศจักรพันธ์ 2 /ถั่วฝักยาวล้านนาชวนอร่อย /ฟักทองประกายดาวล้านนา /กวางตุ้งเหลืองล้านนา และมะเขือเปราะเพชรล้านนา โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน อาทิ
ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 เป็นถั่วฝักยาวที่ได้จากการผสมข้ามระหว่างถั่วฝักยาวพันธุ์เนื้อ ฝักสีเขียว ให้ผลผลิตสูง ผสมกับถั่วฝักยาวฝักสีแดงเข้ม เนื้อบาง และให้ผลผลิตต่ำ ทำการคัดเลือกจนได้พันธุ์แท้ ที่มีลักษณะฝักสีม่วงอมแดง ฝักยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ปลายฝักมีสีเขียวเล็กน้อย เป็นถั่วฝักยาวกึ่งเนื้อ ให้ผลดก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จคัดเลือกพันธุ์ดังกล่าว และพระราชทานนามว่า ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
พริกขี้หนูปู่เมธ เบอร์ 1 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้มอบเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย และได้มีการนำมาปลูกในพื้นที่ของศูนย์ฯ คณะทำงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ผักได้ไปพบและเห็นว่าพันธุ์ดังกล่าวมีลักษณะบางประการที่น่าสนใจ จึงได้ทำการคัดเลือกต้น มาทำการปลูกที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จตรวจติดตามงานและได้ทรงคัดเลือกต้นที่มีลักษณะโดดเด่น คือ ผลออกเป็นช่อ ผลชี้ตั้งขึ้น ผลมีขนาดเล็ก เผ็ดปานกลาง เมื่อสุกแก่ สีแดงเข้ม ต้นเตี้ย เหมาะสำหรับเป็นพริกที่ปลูกในสวนครัวหรือการปลูกในกระถาง คณะวิจัยได้ทำการคัดเลือกต่อจนได้พันธุ์แท้ และได้พระราชทานนามว่า พริกขี้หนูปู่เมธ เบอร์ 1
ผักกาดหอมห่อสีม่วง ช่อผกาพัฒนาเอง ผักกาดหอมห่อพันธุ์ดังกล่าวได้จากการผสมข้ามระหว่างผักกาดหอมห่อพันธุ์สีเขียวกับผักกาดหอมในกลุ่มเรดโครอลที่มีสีแดง คัดเลือกจนได้พันธุ์แท้ ที่มีลักษณะเป็นผักกาดหอมห่อที่มีใบสีม่วง การเข้าปลีแน่น ทรงกลม น้ำหนักต่อต้นประมาณ 250-350 กรัม ได้รับพระราชทานนามว่า ผักกาดหอมห่อสีม่วง ช่อผกาพัฒนาเอง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
มูลนิธิชัยพัฒนาและบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ได้ตกลงร่วมมือในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นว่า บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด มีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การคัดคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของตลาดเมล็ดพันธุ์เป็นอย่างดี ทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด อีกทั้งยังเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISTA และ ISO9001:2015 จึงพระราชทานเมล็ดพันธุ์ตั้งต้นให้แก่บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด เพื่อผลิต ขยายพันธุ์ และจำหน่าย โดยรักษาคุณภาพ มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ และต้องไม่ปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของสายพันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์ทั้ง 16 ชนิดนี้ จะถูกบรรจุอยู่ในซองที่ใช้ชื่อว่า “ซองฉลาดจันกะผัก” ที่มีระบบป้องกัน 2 ชั้น คือปกป้องความชื้นและปกป้องแสงแดด เพื่อให้เมล็ดพันธุ์คงไว้ซึ่งคุณภาพจนถึงมือเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการปลูก พร้อมด้วยคู่มือรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การปรับปรุงดิน การใส่ปุ๋ย ราคาจำหน่ายซองละ 25-30 บาท สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าเมล็ดพันธุ์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทในทุกจังหวัด รวมทั้งโมเดิร์นเทรด และช่องทางออนไลน์ของบริษัท จากความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลใหเ้กษตรกรไทยได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพไปปลูก สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้มากขึ้น และผู้บริโภคได้พืชผักที่ปลอดภัยมาบริโภค
สำหรับในปี 2565 ซึ่งเป็นปีนักษัตรขาล บริษัทฯ ได้จัดชุดปลูกผัก “จันกะผัก ส่งรักปีเสือ 2565 ” จำหน่ายเป็นของขวัญ ส่งความรักความปรารถนาดีในช่วงขึ้นปีใหม่ โดยในชุดจะประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ผักพร้อมกระถางและอุปกรณ์การปลูก ที่ผู้รับสามารถนำไปปลูกได้ทันที จุดประสงค์คือต้องการให้ทุกคนสามารถปลูกผักได้เองด้วยวิธีง่ายๆ มีผักสดใหม่ปลอดภัยจากสารพิษไว้บริโภคภายในครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายคือคนทั่วไปที่สนใจปลูกผัก จำหน่ายในราคาชุดละ 499 บาท โดยชุดปลูกผัก “จันกะผัก ส่งรักปีเสือ 2565” นี้ สามารถหาซื้อได้ที่ 1) ร้านภัทรพัฒน์ทุกสาขา 2) ร้านภูฟ้า 3) Lazada : Sorndaengseed Flagship store หรือ คลิก https://uqr.to/ewslzd1 4) Facebook : เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง หรือ ติดต่อสอบถาม 02-831-7718 ทั้งนี้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ อันอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่ายให้เกิดความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นหลักการเสริมสร้างความสมดุลและยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยต่อไปในอนาคต