รมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่พัก ดูแลเรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เนื่องจากช่วงนี้ยังคงมีฝนตก และมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ อาจทำให้นักท่องเที่ยวเสี่ยงป่วยด้วยโรคติดต่อนำโดยยุงลาย พร้อมทั้งเคร่งครัดมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รัฐบาลประกาศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นมา มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Thailand Pass ทางเว็บไซต์ https://tpconsula.go.th ทั้งแบบยกเว้นการกักตัว (Test and Go) พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (Sandbox Programme) และการกักตัว ณ สถานที่กักกัน (Alternative Quarantine) ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมาพักผ่อนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งสถานที่พักหลายแห่งปิดตัวมานานไม่มีผู้ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกลงมาในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังอยู่ตามเศษภาชนะหรือวัสดุต่างๆ เช่น อ่างบัว อ่างเลี้ยงพืชน้ำ จานรองกระถางต้นไม้ ซึ่งก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการที่พักทั้งโรงแรมและรีสอร์ท ช่วยกันสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งสนับสนุนยาทากันยุงให้นักท่องเที่ยวทาป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่นๆ  ยุงลายขยายพันธุ์โดยการวางไข่ตามขอบภาชนะที่สามารถกักเก็บน้ำได้ เมื่อมีฝนตกหรือมีน้ำมาเติมเต็มภาชนะ ไข่ที่ติดอยู่ขอบภาชนะเหล่านั้นก็จะฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำและยุงลายตัวเต็มวัยในที่สุด แม้ไข่ยุงลายจะแห้งติดอยู่ตามภาชนะต่างๆ มานานหลายเดือน ก็สามารถแตกเป็นลูกน้ำได้เมื่อได้รับน้ำ

           กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่พักช่วงเปิดประเทศ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเคร่งครัดมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลายสำหรับสถานประกอบการที่พักนั้น ขอให้เน้นเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น จัดบริเวณอย่าให้อับแสง ใช้ต้นไม้ที่มีกลิ่นไล่ยุง อาทิ ตะไคร้หอม กระเพรา แมงลัก สะระแหน่ ว่านน้ำ มอสซี่บัสเตอร์ มะกรูด ยูคาลิปตัส เป็นต้น ในส่วนของประชาชนขอให้ปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา นอกจากนี้ ขอให้สถานประกอบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยจากโควิด 19 อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี เปิดประตู หน้าต่าง หรือระบบจ่ายอากาศสะอาดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ก่อนเปิดหรือปิดระบบปรับอากาศ  รวมทั้งทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศตามระยะเวลาที่กำหนด มีจุดบริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์และคัดกรองวัดไข้ ห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่ง เคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention : UP) เน้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19

            ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออกกับโรคโควิด 19 จะทำให้มีอาการทรุดหนักมากและรวดเร็วได้  ดังนั้นหากมีอาการสงสัยดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422