ด้วยนโยบายในการดำเนินงาน คือ การพัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพการทำงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างเจ้าของกิจการด้วยกัน จึงทำให้ สมาคม อีโอ (ไทยแลนด์) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสมาชิก และโดยสมาชิก ไม่หยุดนิ่งที่จะมีงานสัมมนา หรือ กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อองค์กร และส่วนรวม ซึ่งในเรื่องนี้ นาง ศศมณฑ์ สงวนสิน กรรมการฝ่ายกลยุทธ์ระดับชาติ อีโอ โกลบอล ได้สะท้อนการทำงานของ สมาคม อีโอ (ไทยแลนด์) ล่าสุดโดยมี นาย สิทธิเดช ทรัพย์รุ่งเรือง เป็นประธานคนปัจจุบัน และบทบาทของสมาชิกอีโอ โกลบอล ได้อย่างน่าสนใจ ฟอรั่มเพื่อผู้นำชั้นเลิศ

นาง ศศมณฑ์ สงวนสิน กรรมการฝ่ายกลยุทธ์ระดับชาติ อีโอ โกลบอล กล่าวถึง สมาคม อีโอ (ไทยแลนด์) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสมาชิก และโดยสมาชิก พัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพการทำงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างเจ้าของกิจการด้วยกัน โดยผ่านขบวนการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา หรือร่วมทำกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน โดยผ่านการทำฟอรั่มเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ยังร่วมกันทำประโยชน์ เพื่อองค์กรอื่นๆอีกด้วย

ล่าสุดทาง สมาคม อีโอ (ไทยแลนด์) หรือ Entrepreneurs’ Organization, Inc. Association (Thailand) ได้ตอกย้ำการเป็นสมาคมที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์และมุมมองที่เอื้อประโยชน์แก่สมาชิกที่เป็นเจ้าของกิจการ ได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำ (APAC Leadership Summit) ในกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 20-22สิงหาคม 2562 โดยมี คณะกรรมการระดับภูมิภาค ของ อีโอ เข้าร่วมประมาณ 150 คนจาก 15 ประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิค ซึ่งไฮไลท์งานสัมมนาครั้งนี้ อยู่ที่เรื่องการเพิ่มศักยภาพภาวะการเป็นผู้นำกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข เป็นผู้บรรยายคนสำคัญ

ทั้งนี้ นาง ศศมณฑ์ กล่าวถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ที่มาเป็นผู้บรรยายคนสำคัญว่า ด้วยนายอนุทิน เข้าใจถึงการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกันกับสมาชิกของอีโอ ที่อยู่ในระดับผู้บริหารขององค์กรในแต่ละประเทศดังกล่าวกับหัวข้อสำคัญที่บรรยาย ที่ถือเป็นการสวนทางถึงเรื่องราวในอดีตที่ประเทศไทยเคยอยู่ในหมวดหมู่ของกลุ่มสามเหลี่ยมทองคำ และติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่มีผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งการบรรยายในครั้งนี้นอกจากทางสมาชิกอีโอ จะได้รับรู้เรื่องราวกัญชาที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว อีกด้านหนึ่งยังเห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในด้านการแพทย์อีกรูปแบบหนึ่งด้วย

เน้นพัฒนาศักยภาพ

โดย นาง ศศมณฑ์ ยังกล่าวถึง สมาคม อีโอ (ไทยแลนด์) ที่จัดตั้งมากว่า 23 ปี ว่า เป็นองค์กรที่มีสมาชิกระดับผู้บริหารของทุกอุตสาหกรรม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นระดับท็อปเท็นของประเทศ โดยได้รับเชิญจากการแนะนำผ่านคนที่อยู่ในองค์กรและจะต้องเป็นบุคคลที่คนในองค์กรยอมรับแล้วเท่านั้น ซึ่งเวลานี้ทางสมาคมฯ มีประมาณ 120 องค์กร มีงานสัมมนา และกิจกรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งปี เพื่อประโยชน์ของสมาชิกในประเทศไทย

ซึ่งในแต่ละกิจกรรมหรืองานสัมมนา ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นเพื่อสมาชิก ครอบครัวของสมาชิกและหรือผู้ติดตามเท่านั้น มีบางโอกาสหากมีแขกรับเชิญเข้าบรรยายในสิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างก็จะอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังได้ ทั้งนี้ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะมีค่าธรรมเนียมต่อปี เพื่อเป็นงบสนับสนุนในการจัดงานแต่ละครั้งตลอดทั้งปี

ขณะที่ สมาคม อีโอ โกลบอล ทั่วโลกที่มีอยู่ 10 ภูมิภาค จาก 60 กว่าประเทศ แบ่งเป็น Asia Pacific,Canada, Europe, Latin America/Caribbean, MEPA, North Asia, South Asia, United States-Central, United States-East และ United Stateds-West โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในภูมิภาค APAC เป็นหนึ่งในสิบห้าประเทศ มีสมาชิกทั้งหมดของภูมิภาคนี้รวมประมาณ 10 % ของจำนวนสมาชิกทั้งโลก

ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกทั่วโลกรวมทั้งสิ้นประมาณ 13,000-14,000 คน โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ งานสัมมนา รวมถึงการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน ผ่านการทำฟอรั่ม และมีกิจกรรม หรืองานที่จะเวียนไปจัดในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทางอีโอ (ไทยแลนด์) ได้จัดงาน โกลบอล ลีดเดอร์ชิป คอนเฟอเรนซ์ (GLC Bangkok) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ได้งบประมาณการจัดงานจากองค์กรกลางที่อยู่ในประเทศอเมริกา ซึ่งมีผู้เข้าประชุมในครั้งนั้นกว่า 5 พันคน มีผู้บรรยายคนสำคัญหลายๆ คน มาจากหลายประเทศ สมาชิกที่มาจากทั่วโลกเสียค่าใช้จ่ายเองในการเข้าร่วมงาน รวมค่าเดินทาง ที่พัก และการประชุมในครั้งนั้น คนละหลายพันเหรียญ ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศยอดนิยมของ สมาชิกอีโอ”

อย่างไรก็ตาม นาง ศศมณฑ์ ยังกล่าวว่า ในแต่ละครั้งของการจัดงานสัมมนา หรือทำกิจกรรมร่วมกัน จะมีการประเมินผลการทำงาน และประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ มีการสำรวจความพึงพอใจทุกครั้ง ผ่านระบบออนไลน์ มีการเก็บตัวเลข และสิ้นปีจะมีการประเมินผลอีกครั้ง ด้วยการสำรวจความพึงพอใจอีกครั้งตามรูปแบบขององค์กรกลางในประเทศอเมริกา เพื่อนำมาพิจารณาถึงการต่อสัญญาของสมาชิกอีโอต่อไป