กฟผ. และบริษัท ซีคอท จำกัด ขอขอบคุณชาวนนทบุรีและกรุงเทพฯ ที่พร้อมใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รวบรวมความคิดเห็นจัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เว้นระยะห่างลดเสี่ยงโควิด-19
วานนี้ (29 มิถุนายน 2564) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ บริษัท ซีคอท จำกัด จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมลดเสี่ยงโควิด-19 โดยมีนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด เป็นผู้นำเสนอรายละเอียดโครงการ โดยมีประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวนประมาณ 190 คน และมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน 6 คน
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ขอขอบคุณชาวจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ชาวจังหวัดนนท์และ กทม. ยังคงเดินหน้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2571 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยทาง กฟผ. และบริษัทจะรวบรวมความคิดเห็นมาปรับปรุงต่อไป
ด้านนายขรรชัย เกรียงไกรอุดม กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ศึกษาได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งบริษัทฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลจากการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 มาปรับปรุงร่างรายงานและมาตรการฯ จัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ และนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป แม้การจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้จะจัดในรูปแบบออนไลน์ แต่ยังคงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยสามารถสื่อสารได้หลายช่องทาง ได้แก่ ทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ อีเมล แบบประเมิน QR Code
สำหรับประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจคือ ด้านอาชีวอนามัย การกำจัดของเสีย ด้านความปลอดภัย ด้านคุณภาพอากาศ ฝุ่นละออง ด้านการจราจร และด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นต้น โดยบริษัทที่ปรึกษาฯจะรวบรวมข้อห่วงกังวลของชุมชน นำมาปรับปรุงและกำหนดมาตรการต่อไป เพื่อให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือมีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด