ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติตาม “ประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย และกรณีที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันภัย” เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566โดยประชุมผ่านจอภาพ (ระบบ Microsoft Teams) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ภาคธุรกิจหรือบริษัทประกันภัย สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้รับทราบข้อกำหนดตามประกาศฯ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่นี้ รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนได้ซักถามข้อสงสัยในทางปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามกฎหมายไปในแนวทางเดียวกัน อันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัย และประชาชน ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีการแก้ไขปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงินหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2548 โดยนำมาปรับปรุงพร้อมกับประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 และประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2559 เนื่องจากประกาศทั้ง 4 ฉบับ มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการพิจารณาชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการสมควรที่จะนำมาทบทวนปรับปรุงแก้ไขไปในคราวเดียวกัน เพื่อให้มีความชัดเจน ถูกต้อง และทันต่อเหตุการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปของโลกปัจจุบัน
โดยสำนักงาน คปภ. ได้เริ่มทำการศึกษาถึงประเด็นปัญหา และอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย และทำการปรับปรุงร่างประกาศฯ ดังกล่าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างถูกต้องครบถ้วน ตามกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ร่างประกาศฯ มีความถูกต้อง สมบูรณ์ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจาก บอร์ด คปภ. และท่านปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานบอร์ด
คปภ. ได้ลงนามในประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย และกรณีที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และของบริษัทประกันชีวิต เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ มีผลถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป ดังนั้นในปัจจุบันจึงถือว่าต้องใช้ประกาศทั้ง 2 ฉบับ เป็นหลักในการปฏิบัติในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย หรือการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย
สำหรับไฮไลท์ที่สำคัญที่ถูกแก้ไขในประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับ มี 5 หลักการ คือ หลักการแรก การตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว หลักการที่ 2 การเพิ่มวิธีในการแจ้งผลการพิจารณา ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือไปจากที่ประกาศเดิมกำหนดให้ต้องแจ้งผลการพิจารณาเป็นหนังสือเท่านั้น หลักการที่ 3 การเริ่มต้นนับระยะเวลาในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หลักการที่ 4 การกำหนดระยะเวลาให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วันนับแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน หากบริษัทไม่มีการเปิดเผยขั้นตอนและระยะเวลาในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ลงในเว็บไซต์ของบริษัท และหลักการที่ 5 การแก้ไขหลักเกณฑ์ในการพิจารณาชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่บริษัทสงสัยว่าผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย เรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทนโดยไม่สุจริต
“เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในการบังคับใช้ประกาศและเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างถูกต้อง และเป็นธรรมอันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนต่อระบบประกันภัยและระบบการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
Post Views: 191