สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนายทะเบียนประกันภัยอาเซียนประจำปี 2565 ครั้งที่ 25 (25th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting หรือ AIRM) ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคระหว่าง regulators ด้านประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และพัฒนาการประกันภัยของแต่ละประเทศ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกในด้านพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ ห้อง Ballroom 1-2 โรงแรมแชง-กรีลา กรุงเทพฯ ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัยของอาเซียน มีการจัดประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียนครั้งที่ 48 (The 48th ASEAN Insurance Council หรือ AIC) คู่ขนานกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือร่วมกันในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในอาเซียน นอกจากนี้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ยังมีการประชุมร่วมกันระหว่าง AIRM และ AIC (Joint Plenary Meeting) อีกด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมฯ AIRM ครั้งที่ 25 และการประชุม AIC ครั้งที่ 48 โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ประกันภัยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้าง     ความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาวที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับ นอกจากนี้การประกันภัยยังเข้ามามีบทบาทต่อการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนสังคมและประชาชนให้ได้รับโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในการจัดประชุมหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยในกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยรวมถึงความต้องการของภาคธุรกิจประกันภัยในมิติต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจประกันภัยในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีการพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีประกันภัยอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยที่อุบัติใหม่ และส่งผลทำให้ระบบประกันภัยมีความโดดเด่นในเรื่องของการรับประกันภัยจากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่จะต้องใช้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อไป ซึ่งตนมองว่าธุรกิจประกันภัยอาเซียนควรหันมาเน้นการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยความยั่งยืนเพื่อรองรับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญเศรษฐกิจ ESG เพื่อปรับการบริหารงานขององค์กรให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และร่วมกันดูแลภาวะโลกร้อน ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีส่วนดูแลสิ่งแวดล้อม ในส่วนของประเทศไทยได้มีกรมธรรม์ในลักษณะให้ความคุ้มครองทั้งภัยธรรมชาติและประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ซี่งประเทศไทยได้ให้ความคุ้มครองภัยแก่เกษตรกรมานานหลายปีแล้ว ในรูปแบบของการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ตนอยากให้เวทีการประชุมในครั้งนี้มีการหารือเกี่ยวกับการประกันสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่แนวทางการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้มีความรัดกุมและสอดคล้องกับกฎ กติกา ของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคประกันภัยไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐด้าน ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ในฐานะประธานการประชุม AIRM เปิดเผยว่าที่ประชุม AIRM ได้หยิบยกประเด็นการประกันภัยที่ยั่งยืน (Sustainable Insurance) ขึ้นเป็นวาระสำคัญของการประชุมฯ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของประเทศสมาชิก และได้นำเสนอผลการสำรวจต่อที่ประชุมฯ โดยพบว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อาทิ ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประกันภัยพืชผล ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นต้น อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าในการพัฒนาแนวทางการพิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึงมาตรการและแรงจูงใจการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยนำเรื่องความยั่งยืนบรรจุลงในแผนธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งการเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละประเทศที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเด็นในเรื่องนี้ ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้นำเสนอให้มีโครงการฝึกอบรมหัวข้อประกันภัยสุขภาพดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน      ซึ่งประเทศไทย โดยสำนักงาน คปภ. รับเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมให้กับบุคลากรของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของอาเซียน ทั้งยังมีโอกาสรายงานให้ประเทศสมาชิกทราบถึงความคืบหน้าและพัฒนาการด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยผ่านโครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox การบรรจุประเด็นด้านความยั่งยืนในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 การจัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัย และการมอบรางวัลแก่บริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ผลักดันโครงการเพื่อยกระดับความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยของอาเซียน  โดยเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านกลไกการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของแต่ละประเทศสมาชิก ที่จะร่วมกันศึกษาข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยของอาเซียน และต่อยอดสู่การพัฒนาแผนงานความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป โดยสำนักงาน คปภ. เล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก จึงใช้โอกาสในการประชุมครั้งนี้ ผลักดันแนวทางการดำเนินงานด้านการประกันภัยที่ยั่งยืนของอาเซียนให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น อันจะช่วยเสริมสร้างบทบาทของภาคธุรกิจประกันภัยให้ก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนในระดับที่สูงขึ้น  ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีต่อประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะในการที่สำนักงาน คปภ. ได้ริเริ่มการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับ         ความยั่งยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมริเริ่มแนวทางการยกระดับความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยในอาเซียน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมความยั่งยืนของภาคธุรกิจประกันภัย โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบและพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันข้อริเริ่มที่ไทยนำเสนอ

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น    คือ ประเด็นแรก ความคืบหน้าแผนการดำเนินการภายใต้โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) ในระยะที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัวแพลตฟอร์ม ADRFI-2 ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศสมาชิกในการประเมินและวางแผนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

ประเด็นที่ 2 พัฒนาการที่สำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียน ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ร่วมนำเสนอพัฒนาการที่สำคัญของประเทศไทย ด้านการพัฒนากรอบการประเมินระดับความพร้อมด้านการรับมือภัย (Cyber Resilience Assessment Framework: CRAF) สำหรับบริษัทประกันภัย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลของภาคประกันภัยอย่างมั่นคงและปลอดภัย

ประเด็นที่ 3 ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ ACMI และเชื่อมโยงระบบ ACMI ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยในส่วนของประเทศไทย ได้มีการพัฒนาระบบ ACMI ขึ้นโดยบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในขณะที่สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการในส่วนของการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานตามพิธีสาร การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน

นอกจากการประชุม AIRM และการประชุม AIC แล้ว ยังมีการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในฝั่งของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการบริหารของ ASEAN Insurance Training and Research Institute (AITRI) ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารร่วมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ตลอดจนการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Cross-Sectoral Coordination Committee on Disaster Risk Financing and Insurance (ACSCC on DRFI Capacity Building Workshop) และการประชุมคณะทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ของภาคธุรกิจประกันภัย อาทิ Education Committee Council of Bureaux (COB) ASEAN Natural Disaster Research Work Sharing (ANDREWS) และASEAN Reinsurance Working Group อีกด้วย

โดยในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม AIRM และ AIC แล้ว ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายทะเบียนประกันภัยอาเซียนกับกรรมการและประเทศสมาชิกของสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน (ASEAN Insurance Council) ภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียน ในรูปแบบ Joint Plenary Meeting เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะทำงานชุดต่าง ๆ และได้ข้อสรุปร่วมกันดังนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐระเด็นที่ 1 เรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญร่วมกัน และได้หารือร่วมกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงการลงทุนในสินทรัพย์ ESG และพิจารณาความสมดุลทางธุรกิจด้วยการใช้ Taxonomy ทั้งในระดับสากลและอาเซียน เป็นหลักนำในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ โดยหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียนจะร่วมกันเดินหน้าหา Win-win situation ในประเด็นนี้ร่วมกันต่อไป

ประเด็นที่ 2 ความท้าทายของการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน อาทิ ความแตกต่างของระบบความรับผิดและการชดเชยความเสียหาย การขาดการยอมรับร่วมกัน (mutual recognition) ในการประกันภัยของประเทศอื่น ซึ่งหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจจะร่วมกันเดินหน้าแก้ไขประเด็นข้อท้าทายเหล่านี้ รวมถึงประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น และผลักดันการพัฒนาระบบ ACMI ให้เป็นดิจิทัล (Digitalization) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน ผ่านช่องทางออนไลน์

ประเด็นที่ 3 ผลกระทบเรื่องการฉ้อฉลในการประกันภัย (Fraud in Insurance) และแนวทางการลดปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องพิจารณาภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่ด้วย

และประเด็นที่ 4 ที่ประชุมฯ ได้รับทราบพร้อมให้การสนับสนุนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรต่าง ๆ ภายใต้ AIRM และ AIC ได้แก่ AIC, CoB, AIEC, ANDREWS และ Reinsurance Working Committee และแผนการดำเนินงานในปี 2566 รวมถึงรายงานพัฒนาการที่สำคัญของภาคธุรกิจประกันชีวิต และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย

“การประชุม AIRM ครั้งที่ 25 และการประชุม AIC ครั้งที่ 48 ได้รับความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลักดันประเด็นใหม่ ๆ ให้มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมต่อไปได้ ทั้งนี้ยังมีโอกาสเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเพื่อที่จะผนึกกำลังกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสามารถบูรณาการความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ซึ่งประเด็นใหม่ที่สำนักงาน คปภ. ได้ผลักดันในเวทีนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัยอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนให้เกิดความสอดคล้องกันในภูมิภาคและเกิดประโยชน์ต่อคนไทย ตลอดจนเป็นการเพิ่มความร่วมมือในการป้องกันและบริหารความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรื่องการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนผู้เอาประกันภัยและภาคธุรกิจประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย