ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัยผ่านออนไลน์ (Webinar) ภายใต้หัวข้อ Challenging Environment Towards Recovery, Continuity and Future Resilience – Insurance’s Landscape Post COVID-19

คปภ.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินและการเข้าถึงผู้บริโภคของผู้ประกอบการ ตลอดจนเพื่อพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในยุคโควิด-19 รวมทั้งแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย การพัฒนาแนวทางการเข้าถึงผู้บริโภค และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบประกันภัยมีความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต โดยมีผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้กำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัยของอาเซียน บุคลากรของภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงผู้บริหารและพนักงานสำนักงาน คปภ. เข้าร่วมการสัมมนาทั้งที่สำนักงาน คปภ. และผ่านช่องทางออนไลน์รวมจำนวนกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

คปภ.
การสัมมนาในรูปแบบ Webinar ครั้งนี้ได้รวบรวมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในด้านเศรษฐกิจและการประกันภัย จากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ วิทยากรจากประเทศตุรกี ประเทศสิงคโปร์ สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไทย และธนาคารโลก บริษัท Ernst & Young (EY) โดยมีหัวข้อในการบรรยายที่สำคัญประกอบด้วย ภาพรวมของผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและภาคธุรกิจประกันภัย การฟื้นตัวและปรับตัวของภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ในอนาคต นอกจากนั้นยังมีการเสวนาภายใต้หัวข้อปัจจัยแห่งความสำเร็จของภาคธุรกิจประกันภัยไทยในการรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

คปภ.

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก หลายประเทศในทวีปอเมริกา ยุโรป หรือแม้กระทั่งประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญกับความเสียหายครั้งใหญ่ ต้องรับมือกับผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยแม้จะประสบผลสำเร็จในการป้องกันควบคุมโรค โควิด-19 เป็นอย่างสูง เนื่องจากทั้งภาครัฐ เอกชนรวมถึงภาคประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่ต้องมีการปรับตัวและพร้อมรับมืออยู่เสมอ เพื่อพร้อมรับการระบาดระลอกสองที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

คปภ.
สำหรับผลกระทบต่อภาคการประกันภัยไทยนั้น ทางสำนักงาน คปภ. ได้มีการบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจประกันภัยในการออกมาตรการสำคัญต่างๆ เพื่อช่วยเยียวยาและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีการประชุมหารือเพื่อมอบนโยบายและแนวทางการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แก่ภาคธุรกิจประกันภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเหมาะสมตรงกับความต้องการของประชาชน ซึ่งนับได้ว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยจากข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2563 มีการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จำนวนกว่า 9 ล้านฉบับ มีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยประมาณ 4 พันล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วกว่า 85 ล้านบาท นอกจากนี้สำนักงาน คปภ. ยังได้รับการประสานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิค-19 (ศบค.) เพื่อนำการประกันภัยเข้าไปรองรับมาตรการของ ศบค. ที่ได้กำหนดให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มสามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ ซึ่งขณะนี้สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการอนุมัติแบบกรมธรรม์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คปภ.

“การสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัยในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ในวงการประกันภัยที่มีการหยิบยกเอาประเด็นร่วมสมัยที่เกี่ยวกับโควิด-19 มาเป็นข้อหัวเพื่อหาทางออกร่วมกัน และสิ่งสำคัญต่อจากนี้อีกประการหนึ่งคือการติดตามผลการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ที่ออกไปก่อนหน้านี้ ว่าเป็นอย่างไร และมีประเด็นใดที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ได้บ้าง รวมถึงการถอดบทเรียนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
ต่อการระบาดระลอกถัดไป หรือใช้เป็นข้อมูลสำหรับนำไปปรับใช้กับสถานการณ์อื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งการประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ผ่านช่องทางออนไลน์ในครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ได้เรียนรู้ในระดับมหภาคของผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ต่อระบบเศรษฐกิจของโลก และแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมในทุกมิติ นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสอันดีที่ภาคประกันภัยจะได้สื่อสารปัญหาและอุปสรรคที่ได้ประสบจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ตลอดจนเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ในการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล” เลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย