วันที่ 9 กันยายน 2563, อาคารดีป้า ลาดพร้าว – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เคาะ 40 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อชุมชนในชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคชุมชนอย่างยั่งยืน คาดสร้างรายได้ให้ชุมชนและครัวเรือนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตามที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบนโยบายให้ ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการในชุมชนและชนบท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาไปสู่การแข่งขันเชิงธุรกิจในรูปแบบใหม่ในระยะยาวได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ภาคธุรกิจชุมชน
“มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท ทางชุมชนจะเป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับธุรกิจหรือบริบทของตนเอง

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

โดย ดีป้า จะไม่คิดแทน ทำแทน หรือทำให้ แต่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนคิดเป็น ทำเอง และทำได้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ตรวจสอบ และวิเคราะห์ ก่อนนำเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะช่วยยกระดับธุรกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
โดยในที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ครั้งที่ 8/2563 ได้มีการพิจารณาเห็นชอบโครงการเข้ารับการพิจารณาเพื่อขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชุมชน ทั้งหมด 40 โครงการทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย ประเภทการสนับสนุนเทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things) ในการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) จำนวน 22 โครงการ ประเภทการสนับสนุนเทคโนโลยี IoT ในโรงเห็ดและโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 6 โครงการ ประเภทการสนับสนุนดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) และแอปพลิเคชัน จำนวน 10 โครงการ และประเภทการสนับสนุนโดรนเพื่อการเกษตร จำนวน 2 โครงการ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการในชุมชน และชนบทไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี