เมื่อวันที่ 17 ก.พ.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ
เรื่อง “Digital Disruption : ความท้าทายของการบริหารและพัฒนาท้องถิ่นไทยในทศวรรษ 2020” เพื่อให้ผู้นำและนักพัฒนารุ่นใหม่สามารถรับมืออย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม โดยมี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สำนักวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น และ ผู้นำท้องถิ่นจากอำเภอต่าง ๆ ของ จ.เชียงราย จำนวน 80 คน ร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา (ศูนย์อาเซียน) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ทั้งนี้ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย อดีตรมช.มหาดไทย นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นายมนัส โสกันธิกา อดีตรองผวจ.เชียงราย และนายอุทัย หอมนาน พัฒนาการจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมรับฟังด้วย โดยมี ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในยุคดิจิทัล หากจะกล่าวจริง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยบริหารจัดการในชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับตนเอง ไปจนถึงระดับชาติ เช่น การโทรศัพท์ หรือใช้ Internet สั่งอาหารให้มาส่งที่บ้าน ทำให้อาชีพการค้าขายแบบเดิม ๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทัน ดังนั้น ยุค Digital Disruption เป็นการเปลี่ยนเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น มาใช้ในการดำรงชีวิต แต่ไม่ใช่ทำลายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อตัวตนยังคงอยู่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด และจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่รู้จักใช้เครื่องมือเหล่านี้ ปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีมาศึกษาหาความรู้ต่อยอดและการติดต่อสื่อสารต่างๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ก้าวตามไม่ทันก็คว้าโอกาสไม่ทัน หรือหากช้าอาจถูก Disruption ทำให้หายไป การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและไม่ใช่สิ่งที่ดี คือ เปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมที่ลืมรากเหง้า ละทิ้งภูมิปัญญา ทำให้สิ่งดีดี เหมาะแก่สภาพแวดล้อมของตนเองหายไป ต้องผสมผสานนำสิ่งที่ดีของแต่ละยุคมาปรับใช้
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเน้นย้ำถึงการพึ่งพาตนเองให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ปฏิบัติได้ตามอย่างง่าย ๆ คือ ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ข้างบ้าน หรือการทำโคก หนอง นา โมเดล ที่สามารถทำให้พออยู่ พอกิน ไม่ว่าโลกจะเกิดวิกฤตอย่างไร ก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา โมเดล ควบคู่กับภารกิจด้านอื่น ๆ อาทิ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี, พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP, ปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล จปฐ. ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย, การบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงาน องค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ นำนักศึกษามาขายสินค้า OTOP ออนไลน์ เป็นต้น
อธิบดี พช. กล่าวว่า ขอฝากถึงหนังสือ “นวโกวาท” ที่จะช่วยให้ทุกคนมีหลักในการครองชีวิต เป็นหลักธรรมชาติในทุกด้าน นำชีวิตสู่ความสำเร็จและทำให้สังคมเป็นสุข เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ ยุค Disruption ไม่สามารถทำลายชีวิตของเราได้ เนื่องจากยังมีหลักธรรมค้ำจุนสังคมอยู่ เพราะไม่ว่าโลกจะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หรือทางเทคโนโลยีขนาดไหน จะเป็นยุค 4G 5G หรือ 6G ถ้าคนเรายังคงยึดในเรื่องของจิตใจ รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ภายใต้หลักการที่ทุกคนสามารถพึ่งพาช่วยเหลือตนเองให้ได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ ร.9 ยุค Digital Disruption ก็จะไม่ส่งผลร้ายต่อพวกเรา
“สิ่งสำคัญที่จะประสบความสำเร็จ (Success) ทั้งในชีวิต ครอบครัว และสังคม คือ “คน” ต้องมีทัศนคติที่ดี (Attitude) มองโลกในแง่ดี มีเป้าหมายให้สังคมมีความสุข ต้องมีความรู้ (Knowledge) ทั้งเทคโนโลยี สภาพภูมิสังคม การทำงานร่วมกัน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องรู้ในวิธีการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ และสุดท้าย ต้องมีทักษะความสามารถ (Ability) ในการบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อนำไปขับเคลื่อนจนเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้” นายสุทธิพงษ์กล่าว
นอกจากนั้น ยังทรงเคยเตือนภัย เรื่องเสือตัวที่ 5 หรือการที่ไทยจะพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และต่อมาก็เกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ทรงสอนเรื่องการพึ่งพาตนเองให้ได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผู้คนที่ไม่ตระหนักก็มีจำนวนมาก ที่ต้องตกอยู่ในสภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว รัฐบาลก็เห็นถึงสภาพข้อเท็จจริงนั้น จึงได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการจะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกคนในสังคมต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นให้ได้ และเมื่อถึงเวลานั้น จะทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปขนาดไหน คนไทยก็จะมีความสุข ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนเอง ก็จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่ให้เป็น “โคกหนองนาโมเดล” ตามศาสตร์พระราชาอย่างสมบูรณ์