สสว. ผนึกสถาบันอาหาร โชว์ผลงานส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ไทย ภายในงาน “มหกรรมงานแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปสู่โลกอุตสาหกรรม” พบกับ SME ทั้งกลุ่มอาหารเครื่องดื่มและกลุ่มผลผลิตทางการเกษตรจากทั่วประเทศ กว่า 60 บูธ จากโครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสับปะรดและเครือข่ายกระเทียม ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 ส่งผลให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการ กระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม OTOP 3-5 ดาว โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งหลังการดำเนินโครงการเสร็จสิ้น พบว่า มีผู้ประกอบการจำนวน 500 ราย ทั่วประเทศให้ความสนใจและเข้าร่วมการอบรม และมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 52 รายที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ

ตั้งแต่การสำรวจความคิดเห็นแบบกลุ่มย่อย (Focus group) ระดมความคิด สร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มในท้องถิ่นให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด กระทั่งได้ 52 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาเป็นสินค้าต้นแบบ

อาทิ หลนเค็มบักนัดไก่ จ.อุบลราชธานี, มะขามผงชงพร้อมดื่ม จ.เลย, เนื้อทุบรสแซ่บ จ.มุกดาหาร,
ไส้อั่วสมุนไพรผสมบุกรสหม่าล่า จ.เชียงใหม่, ขิงแผ่นอบกรอบ จ.เพชรบูรณ์,ปลาอินทรีย์ทรงเครื่อง
บรรจุในถุง Retort Pouch จ.นนทบุรี, พัฟมะม่วง จ.ราชบุรี, ซุปปลาผง จ.ปัตตานี, น้ำแกงส้มพร้อมบริโภค
จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยจะมี 5 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพิจารณาเพื่อคัดเลือกเป็นสุดยอดสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประจำท้องถิ่น (Product champion) ซึ่งทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งผลกระทบแบบทวีคูณ (Multiple Effect) กระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าหรือบริการมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนเกิดการขยายตัว

“โครงการยกระดับผู้ประกอบการฯ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น เรื่องดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการเก็บรักษา เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และสามารถเข้าสู่ตลาดสากลได้ คาดว่าจะสามารถ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาทต่อปี และสสว หวังให้ผู้ประกอบการ
ได้นําองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ไปดําเนินการต่อ เพื่อสร้างความยั่งยืนในแง่ของการสร้างรายได้
ให้กับชุมชนต่อไป” ผอ.สสว.กล่าว

นายสุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับ โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 ในกลุ่มเครือข่ายสับปะรด และกลุ่มเครือข่ายกระเทียม เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ สสว. ได้ร่วมมือกับสถาบันอาหารคัดเลือก
ผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent : CDA) จำนวน 17 ราย การรวมกลุ่มเครือข่าย 5 กลุ่ม แบ่งเป็นสับปะรด 4 เครือข่าย และกระเทียม 1 เครือข่าย ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับความรู้
และประสบการณ์ในหลายด้าน ทั้งการยกระดับ มาตรฐานการผลิต การนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย
มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี

นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวต่อว่า โครงการสนับสนุน เครือข่าย SME ปี 2562 ในกลุ่มเครือข่ายสับปะรด และกลุ่มเครือข่ายกระเทียม ซึ่งสถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ มีความคืบหน้าด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นรูปธรรมได้ 5 ผลิตภัณฑ์จาก
5 เครือข่าย ทั้งยังเกิดการเชื่อมโยงกันของผู้ประกอบการในเครือข่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ให้เกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายสับปะรดสามบุรี (จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) พัฒนาไอศกรีมไวน์สับปะรด กลุ่มเครือข่ายสับปะรดสยามโกลด์ (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) พัฒนาสับปะรดแช่เยือกแข็ง กลุ่มเครือข่ายสับปะรดสินสมุทร (จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด) พัฒนาสับปะรดอบน้ำผึ้ง กลุ่มเครือข่ายสับปะรดภาคเหนือ (จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก) พัฒนาสับปะรดผง
สำหรับหมักเนื้อ และกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกกระเทียมจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนากระเทียมผง

ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ เมืองมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 คาดว่ามียอดการ สั่งซื้อประมาณ 30 ล้านบาท

นายสุวรรณชัย กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่า จาก 2 โครงการที่ สสว.ทำงานร่วมกับสถาบันอาหาร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกิดขึ้น ไม่น้อยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์จากทั่วประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาธุรกิจโดยการสนับสนุน ด้านการสร้างกลุ่มเครือข่าย และ สร้าง Product Champion ด้วยการพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้มีการกระจายทั้งประเทศอย่างทั่วถึง

และเพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการให้เกิดความยั่งยืน สสว. สถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้จัดพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เพื่อการพัฒนายกระดับสินค้าชุมชน และสร้าง Product Champion กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

“ความร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ การส่งเสริม และ สนับสนุนทางด้านวิชาการ การฝึกอบรม การพัฒนาองค์ความรู้ และการถ่ายทอด เทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในรูปแบบเพิ่มมูลค่าให้กับ สินค้าเกษตร และการอนุรักษ์ หรือรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากงานวิจัย โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นนำมายกระดับพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบแบบทวีคูณ (Multiple Effect) กระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าหรือบริการมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนเกิดการขยายตัวและยั่งยืน” นายสุวรรณชัย กล่าวในที่สุด