วันนี้ (5 ส.ค.62) เวลา 13.00 น. ณ ห้องกษัตริย์ศึก ชั้น 4 โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
นายธนสุนทร สว่างสาลี รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เป็นประธานในพิธีเปิดการการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างสัมพันธภาพและพัฒนาบทบาทหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว พร้อมติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 สิงหาคม 2562
โดยมี นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน
นายธนสุนทร กล่าวว่า ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นประเด็นปัญหาของสังคมไทย ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ได้ดาเนินโครงการสำคัญ ( Flagship Project) สังคมไทยไร้ความรุนแรง รูปแบบของกิจกรรมสำคัญ 2 ระดับ คือ ระดับบุคคล คือ คน พม.ไร้ความรุนแรง เป็นการสร้างความตระหนักและทัศนคติที่ดีของบุคลากรให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานด้านความรุนแรงฯ และระดับพื้นที่ คือ ตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรง เป็นการส่งเสริมการดาเนินงานและพัฒนาศักยภาพของกลไกชุมชนมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการ และประสานเชื่อมโยงงานระหว่างสหวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดและพื้นที่ อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้แทน พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจึงซักซ้อม สร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความพร้อมมากที่สุด
นายธนสุนทร กล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกลไกการดำเนินงานเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว เป็นกลไกระดับชาติ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนหลัก รวมทั้งกำหนดแผนงาน มาตรการ แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพ ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา 2) ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวในระดับจังหวัด เป็นกลไกระดับจังหวัด ทำหน้าที่ในการดำเนินงานตามแนวทางของกลไกระดับชาติ เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ให้ความรู้และความเข้าใจ คำปรึกษาแนะนำ การคุ้มครองสวัสดิภาพ การให้ความช่วยเหลือ การระดมความคิดเห็น การพัฒนาบุคลากรในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว และการคุ้มครองสวัสดิภาพ 3) ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนหรือ ศพค. เป็นกลไกระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน ที่จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางและกลไกในการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำและส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ครอบครัว พร้อมทั้งกำหนดกระบวนการในการดำเนินการพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง และคุ้มครองสถาบันครอบครัวจากความรุนแรง โดยใช้กระบวนการประชาคมขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชน
การประชุมครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับใหม่ และพัฒนาบทบาทหน้าที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถขับเคลื่อนงานด้านการป้องกัน แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ได้อย่างเป็นระบบ นายธนสุนทร กล่าวในตอนท้าย
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจังหวัด จาก 76 จังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และผู้สังเกตการณ์จากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รวมจำนวน 160 คน