กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ ภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 10 “ดุลภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรง” และรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม”ระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างกระแสสังคมในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางต่าง ๆ ให้สังคมตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ผ่านการประชุมวิชาการในประเด็นสำคัญ คือ ดุลยภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรง รวมถึงกิจกรรมเพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชน และทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว” เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกัน บนรากฐานสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง
อย่างยั่งยืน
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครอบครัว คือ รากฐานที่สำคัญของสังคม เด็กและเยาวชนที่มาจากครอบครัวอบอุ่นและมีสัมพันธภาพที่ดี ย่อมจะไม่เป็นคนก้าวร้าว ในขณะเดียวกันหากอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เด็กและเยาวชนเหล่านั้น ก็จะเรียนรู้ เลียนแบบ และซึมซับพฤติกรรมดังกล่าวได้ง่าย ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงและการกระทำผิดอันไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งเป็นที่มาของปัญหาต่าง ๆ ในสังคมอีกมากมาย ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กและสตรี ในสังคมไทยปัจจุบันยังคงมีความคิดว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ถือเป็นเรื่องปิด เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วสังคมมักจะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องของสามีภรรยา ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยผู้กระทำมักจะอ้างว่าเป็นเรื่องของผัวเมียอย่ามายุ่ง รวมทั้ง หากกรณีผู้กระทำความรุนแรงเป็นชาย มักเกิดจากแนวคิด เจตคติ และวัฒนธรรมที่ให้อำนาจชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นที่รับรู้ของคนในสังคมไทย และยังมองว่าเป็นเรื่องของคนในครอบครัวที่ต้องแก้ไขปัญหากันเองภายในครอบครัว
จากฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.thของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในปี 2564 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำที่เกิดขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ระหว่างสามีกับภรรยา จำนวน 1,106 เหตุการณ์ รองลงมา คือ ระหว่างบิดามารดากระทำต่อบุตร จำนวน 620 เหตุการณ์ และปู่/ย่า/ตา/ยายกระทำกับหลาน จำนวน 94 เหตุการณ์โดยสาเหตุ/ปัจจัยการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี 2564 จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง 2,631 รายโดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุ/ปัจจัยที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เมาสุรา/ยาเสพติด จำนวน 1,157 เหตุการณ์ รองลงมา คือ สุขภาพกาย/จิต จำนวน 474 เหตุการณ์ และนอกใจ/หึงหวง จำนวน 379 เหตุการณ์ในปีนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้กำหนดแนวคิด “R-E-S-P-E-C-T สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กิจกรรม “การประชุมวิชาการอนามัยครอบครัว” ภายใต้แนวคิด “ดุลภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรง” ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ “ครอบครัวคุณภาพ สร้างได้ด้วยมือเรา” การเสวนา “ดุลยภาพครอบครัวสู่ความมั่นคงของมนุษย์” และ “พหุปัจจัยกับครอบครัวไทยและความรุนแรงในครอบครัว” Keynote speaker เรื่อง “พฤติกรรมพลวัตร่วมสมัย” และการอภิปรายผลงานวิชาการ
กิจกรรม “ประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ร่วมกัน 30 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานที่เคยร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว 27 หน่วยงาน พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายด้านวิชาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ที่จะมาร่วมกันสร้างและส่งเสริมให้สังคมไทยยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” โดยการเสริมสร้างทักษะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สนับสนุนการเสริมพลังให้แก่สตรี โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำความรุนแรง ผลักดันการจัดบริการที่ดีและเข้าถึงง่ายให้แก่สตรีและครอบครัว สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัว สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเหมาะสมในชุมชนและสังคม มุ่งเน้นการป้องกันและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเคารพ ยอมรับ ความแตกต่าง และเร่งสร้างทัศนคติที่ดี ความเชื่อที่ถูกต้อง โดยจะไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกัน บนรากฐานสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเปิดตัวหลักสูตรอบรมออนไลน์เพื่อสร้างครอบครัวที่พักพิงอันปลอดภัย (DV-learning) ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์และเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะสำหรับทุกคน โดยเป็นหลักสูตรที่รวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมแก้ปัญหา และเข้าใจแนวทางการช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว (Domestic violence) ที่ครบถ้วนมากที่สุดหลักสูตรหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งจะมี 9 โมดูล เนื้อหาบทเรียน ที่ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเครื่องมือซึ่งออกแบบจากความรู้พื้นฐานสำคัญและแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากทุกวิชาชีพ ผ่านการบูรณาการและอ้างอิงข้อมูลมาตรฐานระหว่างประเทศและในประเทศ รวมไปถึงอีกกิจกรรมที่สำคัญ คือ “พิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรและหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ซึ่งเป็นประเภทบุคคล 5 รางวัล และประเภทองค์กร 5 รางวัล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในการสนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
Post Views: 247