กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ ภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 10 “ดุลภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรง” และรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม”ระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างกระแสสังคมในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางต่าง ๆ ให้สังคมตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ผ่านการประชุมวิชาการในประเด็นสำคัญ คือ ดุลยภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรง รวมถึงกิจกรรมเพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชน และทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว” เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกัน บนรากฐานสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง
อย่างยั่งยืน

พม. จับมือ ภาคีเครือข่าย รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ชี้สังคมไทยยังน่าห่วง พร้อมร่วมกันกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   กล่าวว่า  ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครอบครัว คือ รากฐานที่สำคัญของสังคม เด็กและเยาวชนที่มาจากครอบครัวอบอุ่นและมีสัมพันธภาพที่ดี ย่อมจะไม่เป็นคนก้าวร้าว ในขณะเดียวกันหากอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เด็กและเยาวชนเหล่านั้น ก็จะเรียนรู้ เลียนแบบ และซึมซับพฤติกรรมดังกล่าวได้ง่าย ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงและการกระทำผิดอันไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งเป็นที่มาของปัญหาต่าง ๆ ในสังคมอีกมากมาย ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กและสตรี ในสังคมไทยปัจจุบันยังคงมีความคิดว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ถือเป็นเรื่องปิด เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วสังคมมักจะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องของสามีภรรยา ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยผู้กระทำมักจะอ้างว่าเป็นเรื่องของผัวเมียอย่ามายุ่ง รวมทั้ง หากกรณีผู้กระทำความรุนแรงเป็นชาย มักเกิดจากแนวคิด เจตคติ และวัฒนธรรมที่ให้อำนาจชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นที่รับรู้ของคนในสังคมไทย และยังมองว่าเป็นเรื่องของคนในครอบครัวที่ต้องแก้ไขปัญหากันเองภายในครอบครัว

จากฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.thของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในปี 2564 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำที่เกิดขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ระหว่างสามีกับภรรยา จำนวน 1,106 เหตุการณ์ รองลงมา คือ ระหว่างบิดามารดากระทำต่อบุตร จำนวน 620 เหตุการณ์ และปู่/ย่า/ตา/ยายกระทำกับหลาน จำนวน 94 เหตุการณ์โดยสาเหตุ/ปัจจัยการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี 2564 จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง 2,631 รายโดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุ/ปัจจัยที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เมาสุรา/ยาเสพติด จำนวน 1,157 เหตุการณ์ รองลงมา คือ สุขภาพกาย/จิต จำนวน 474 เหตุการณ์ และนอกใจ/หึงหวง จำนวน 379 เหตุการณ์ในปีนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้กำหนดแนวคิด “R-E-S-P-E-C-T สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กิจกรรม “การประชุมวิชาการอนามัยครอบครัว” ภายใต้แนวคิด “ดุลภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรง” ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ “ครอบครัวคุณภาพ สร้างได้ด้วยมือเรา” การเสวนา “ดุลยภาพครอบครัวสู่ความมั่นคงของมนุษย์” และ “พหุปัจจัยกับครอบครัวไทยและความรุนแรงในครอบครัว” Keynote speaker เรื่อง “พฤติกรรมพลวัตร่วมสมัย” และการอภิปรายผลงานวิชาการ

พม. จับมือ ภาคีเครือข่าย รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ชี้สังคมไทยยังน่าห่วง พร้อมร่วมกันกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังกิจกรรม “ประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ร่วมกัน 30 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานที่เคยร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว 27 หน่วยงาน พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายด้านวิชาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ที่จะมาร่วมกันสร้างและส่งเสริมให้สังคมไทยยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” โดยการเสริมสร้างทักษะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สนับสนุนการเสริมพลังให้แก่สตรี โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำความรุนแรง ผลักดันการจัดบริการที่ดีและเข้าถึงง่ายให้แก่สตรีและครอบครัว สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัว สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเหมาะสมในชุมชนและสังคม มุ่งเน้นการป้องกันและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเคารพ ยอมรับ ความแตกต่าง และเร่งสร้างทัศนคติที่ดี ความเชื่อที่ถูกต้อง โดยจะไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกัน บนรากฐานสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเปิดตัวหลักสูตรอบรมออนไลน์เพื่อสร้างครอบครัวที่พักพิงอันปลอดภัย (DV-learning) ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์และเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะสำหรับทุกคน โดยเป็นหลักสูตรที่รวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมแก้ปัญหา และเข้าใจแนวทางการช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว (Domestic violence) ที่ครบถ้วนมากที่สุดหลักสูตรหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งจะมี 9 โมดูล เนื้อหาบทเรียน ที่ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเครื่องมือซึ่งออกแบบจากความรู้พื้นฐานสำคัญและแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากทุกวิชาชีพ ผ่านการบูรณาการและอ้างอิงข้อมูลมาตรฐานระหว่างประเทศและในประเทศ  รวมไปถึงอีกกิจกรรมที่สำคัญ คือ “พิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรและหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ซึ่งเป็นประเภทบุคคล 5 รางวัล และประเภทองค์กร 5 รางวัล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในการสนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว